วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 7/2






พระอาจารย์

7/2 (550204A)

4 กุมภาพันธ์ 2555




พระอาจารย์ –  จริงๆ น่ะ มันก็ต้องมีประกอบด้วยนะการนั่งสมาธิ เพราะมันจะได้มีความละเอียดชัดเจนด้วย...ชัดเจนในตัวรู้น่ะ ... นั่งไม่เอาความสงบ แต่นั่งเอารู้...รู้สึกตัว  ให้รู้มันเด่น...เพื่อให้รู้มันชัด

ในอิริยาบถทั่วไปมันก็รู้ได้ต่อเนื่อง แต่ว่ามันจะไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ...ถ้าอยู่ในรูปแบบนี่ มันสามารถจะรู้ได้ชัด  เวลารู้ได้ชัดแล้วมันจะชัดเจนในอาการ ในธรรมที่ปรากฏแต่ละส่วน

ให้ทำความรู้สึกว่านั่งแค่นั้นน่ะ แล้วก็แยกให้ออก แยกกายแยกจิตให้ชัดเจน แยกกายแยกใจให้ชัดเจน  กายเป็นก้อนหนึ่ง แล้วก็รู้เป็นอันหนึ่ง แล้วนอกนั้นก็มาอยู่ท่ามกลางกายอย่างนี้ 

รู้อย่างนี้ แล้วก็เห็น...อะไรมันผุดโผล่ขึ้นมา พยายามให้มันชัดเจนในธรรมที่มันปรากฏ...ให้ชัด สุดท้ายแล้วก็เหลือแค่กายกับรู้...กายกับรู้ เท่านั้น

เพราะนั้นเวลานั่งไปนานๆ แล้วมันก็พิจารณาเวทนาไปด้วย เวลาปวด เวลาเมื่อย ก็ต้องฝึกกับเวทนาด้วย  เพราะในอิริยาบถทั่วไป เวทนามันไม่มีเท่าไหร่...เวทนาทางกาย  แต่ว่าเวลานั่งสมาธินานๆ แล้วมันจะมีเวทนาปวดขึ้นมา จะได้ฝึกแยกเวทนากับใจด้วย ให้เห็นเวทนาเป็นก้อน เป็นอันหนึ่ง ใจรู้เป็นอันหนึ่ง

ในรูปแบบมันก็ต้องใช้  แต่ว่าไม่ได้มุ่งเอาความสงบหรือว่ามุ่งเอาอะไร...มุ่งเอารู้ให้ชัดเจน ต้องรู้ให้ชัดที่ใจ ... ถ้านั่งได้ดี นั่งได้ชำนาญ ใจมันจะรวม รวมถึงขั้นเป็นอุปจาระ  ดูอะไรมันจะชัดเจนขึ้น ... ค่อยๆ เลาะไป มันจะได้กำลังตรงนั้นด้วย

แล้วก็จะได้แยกออกระหว่างสงบกับรู้  จิตสงบก็เป็นจิต...สักแต่ว่าจิต  รู้เป็นรู้ สงบเป็นสงบ มันคนละอันกัน  เพราะในเรื่องจิตบางทีพวกเรายังไม่ชำนาญ ในการแยก...แยกจิตแยกใจออกจากกัน แยกอารมณ์ละเอียด

ในอิริยาบถปกติ...อารมณ์ละเอียดกับใจบางทีมันแยกไม่ออกหรอก  แต่ในเวลานั่งสมาธินี่ เราไม่ต้องทำอะไร  มันจะชัดเจนในเรื่องของจิตด้วย  เรื่องของจิตมันจะชัด อารมณ์ ความละเอียด ความเบา พวกนี้ ...ถ้าไม่แยบคายมันก็จะไปหมายเอาว่าเป็นใจหมด

มันก็จำแนกธรรมไป จิตคืออาการ จิตก็เบาบ้าง หนักบ้าง สงบบ้าง นิ่งบ้าง กว้างบ้างโล่งบ้าง นี่พวกนี้มันจะไปเรียนรู้กับใจ  มันจะมีความประณีตขึ้น  แล้วก็สังเกตเวลานั่ง ใจรู้มันก็จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตรงนั้นบ้าง อยู่ตรงนี้บ้าง รวมบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

มันจะเห็นเนื้อใจ...เนื้อของผู้รู้ ที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนกัน รู้มันก็เปลี่ยน  เดี๋ยวสุดท้าย...จนได้ที่ของมัน ก็จะอยู่ในที่แค่ตรงนี้...จุด รู้จุดเดียว แค่จุดเล็กๆ ตรงกลาง

เวลานั่งสมาธิน่ะ ไม่ต้องนั่งหลังตรงหลังแข็งอะไรหรอก  นั่งพิง นั่งเอนก็ได้  สบายๆ นั่งแล้วก็ให้มันรู้สึกว่ามันไม่เกร็ง นั่งสบายๆ  นั่งแบบไม่เอาอะไร เอาความรู้อย่างเดียว...ทำความรู้อย่างเดียว...รู้

จะนั่งพิง เอาหมอนพิงไว้ นั่งสบายๆ ขัดสมาธิอย่างนี้ก็ได้ หรือไม่ขัดก็ยังได้เลย ไม่ต้องขวาทับซ้าย ซ้ายทับขวาอะไร  คือนั่งไม่เอารูปแบบอะไร ...แต่ให้อยู่ในอากัปกิริยาที่มันสงบนิ่ง แล้วก็มีความตั้งใจ ต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจที่จะรู้...อย่างเดียว ตั้งใจจะรู้อย่างเดียว ...ไม่เอาอย่างอื่น

สงบก็ไม่เอา คิดก็ไม่เอา ปัญญาปัญแหยะก็ไม่เอา เอารู้อย่างเดียว ตั้งใจเอารู้ นั่งรู้.. นั่งรู้...รู้นั่ง นั่งรู้ รู้นั่งอยู่ตรงนี้  มีลมก็ดูลมไป รู้กับลมไป เปลี่ยนจากลมก็รู้อยู่กับรู้ไป มีความคิดขึ้นมาก็ช่างหัวมัน ไม่สน  รู้อย่างเดียว...รู้อย่างเดียว ไม่เอาอะไร จะให้ไปคิดไปหาอะไรก็ไม่เอา รู้อย่างเดียว นั่ง...รู้ อย่างนี้

เดี๋ยวมันก็ผ่องใสตื่นขึ้นมาเอง มีความตื่นรู้ ...อยู่กับความตื่นรู้ไป ความผ่องใส นั่งไปแล้วผ่องใส  คือถ้านั่ง...ถ้าเจริญสติมาต่อเนื่องทั้งวันนี่ นั่งไม่เกินห้าวินาทีน่ะจิตมันรวมรู้เลย ง่ายจะตาย  

เมื่อเริ่มฝึกสติไปบ่อยๆ แล้ว จับฐานของใจได้ จับฐานของรู้ได้นี่ ปึ๊บ ไม่ต้องไปหาอะไรเลย รู้อย่างเดียว พั้บ เหมือนถูกล็อคไว้เลย ...เหมือนเจอห้องน่ะ เจอห้องว่างห้องนึง ที่ไม่มีข้าวของในห้องนั้นเลย ปึ๊บ นี่มันเข้าอยู่ในห้องนั้น ไม่ไปไม่มา ไม่ขึ้นไม่ลงแล้ว


โยม –   มันต้องหลับตาด้วยมั้ยเจ้าคะ ขณะนั่ง

พระอาจารย์ –  ก็หลับเบาๆ ... จริงๆ ไม่ต้องหลับก็ได้ ลืมตาก็ได้ หลุบตาต่ำ  พอมันเริ่มรวมปุ๊บเดี๋ยวมันหลับตาของมันเอง มันก็จะเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ... แต่ถ้ามันเริ่มเคลิ้มเริ่มอะไรนี่ แปลว่าสติมันอ่อน รู้ไม่ชัด  พอรู้ไม่ชัดสติอ่อนนี่ เดี๋ยวโมหะมันครอบงำแล้ว ถีนมิทธะเกิดแล้ว

ก็ให้ลืมตาขึ้น ลืมตาแล้วก็ส่ายหน้าส่ายตาดูนั่นดูนี่ไป  ให้มันกลับมารู้ว่าเห็น รู้ว่าขยับ  มันก็จับที่รู้ว่าเห็น จับที่รู้ว่าขยับ ...จับรู้ไว้  น้อมเพื่อให้การรู้..อาการรู้ แล้วก็จับที่ตัวรู้ไว้  แล้วก็ร้อยเรียงเข้ามา เวลาหลับตาก็ “รู้” อยู่ตรงนี้นะ รู้...จับอยู่ที่รู้ ทำความรู้ รู้มันจะชัดขึ้น ตื่นขึ้นๆ     

เหมือนหยอดกระปุก รู้บ่อยๆ  พอเริ่มเบลอเริ่มซึมเริ่มง่วงเหงานี่ ขยับให้รู้ไว้ หันไปให้รู้ว่าเห็น...รู้ว่าเห็น  อะไรก็ได้ ให้จับสภาวะรู้ขึ้นมา น้อมนำสภาวะรู้ให้ปรากฏ แล้วก็หลับตาก็อยู่ในฐานของรู้ให้ชัด

อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวาย ให้มันเรียบๆ ง่ายๆ รู้ธรรมดา  พอมันเริ่มหายไป เริ่มเคลิ้มเริ่มเบลอ อย่าหงุดหงิด  พอหงุดหงิดก็ให้รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ จิตกำลังมีอาการอะไร  รู้บ่อยๆ เดี๋ยวมันชัดเจนขึ้นมา

เวลาใส่เสื้อใส่ผ้านี่ให้มันทัน ขยับมือขยับไม้กลัดกระดุมนี่ ช้าๆ รู้ไปนิดนึง  อย่าหงุดหงิด อย่ารีบ ให้รู้ไป ขณะนิ้วกำลังจับกำลังสวม ให้เห็นการเคลื่อนไหว ให้มันทันกัน  ฝึกไว้อย่าให้มันออกนอกกายนี้  

เมื่อใดที่กายมันพอดีกันกับใจ รู้พอดีกันกับใจ เดี๋ยวมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง  ความตั้งมั่นอยู่ตรงนั้นน่ะ ... ค่อยๆ อย่าไปร้อนรน อย่าไปลุกลี้ลุกลนบ่นว่า ..อีกแระ อย่างโน้นอย่างนี้ ...ไม่มีประโยชน์หรอก

กลับไปรู้กับกาย ...เดินสบายๆ ช้าๆ ดูกายมันแกว่ง  หยิบจับอะไรช้าๆ แล้วก็ดูให้ทันกัน  แล้วก็ให้มันเกิดความต่อเนื่องเรียบง่ายไป ... ให้ต่อเนื่องเรียบง่ายเบาๆ พอดีกัน พอดีกันเป๊ะๆๆๆ กาย-ใจ...กาย-ใจพอดีกัน เดี๋ยวใจมันก็รวมอยู่ในกาย ชัดเจน

มันร้อนรน ...ที่มันหลุดกันเพราะมันร้อน มันลน  ...จิตมันเผา มันก็ผูกไล่ตามอาการของจิต มันจะไปไล่ดูจิต ดูเรื่องราว มันไหลออกนอกกายหมด ... ทิ้งมัน ไม่เอา  กลับมา รู้ง่ายๆ ยืน ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวหยิบจับ

เวลากิน เวลากินข้าวเป็นเวลาที่รู้ได้ต่อเนื่องดี  เพราะมันมีการเคลื่อนไหวหลายขยับ ตั้งแต่มือ ตั้งแต่ปากตั้งแต่ลิ้น ตั้งแต่การกลืนลงท้อง อะไรพวกนี้ ...ให้มันสลับต่อเนื่องกัน ให้มันพอดีกัน กลมกลืนกัน เป็นเส้นสายเดียวกัน นะ มันจะมีความราบเรียบพอดีกัน

ทำอยู่แค่นี้แหละ รู้กายอยู่แค่นี้แหละ ให้มันพอดีกัน แล้วมันก็ตั้งมั่น  พอตั้งมั่นใจมันจะชัดเจน ชัดเจน...คราวนี้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน รู้ตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องอยู่ที่กายก็ได้ มันก็รู้ของมันเอง  

เวลามันหายไปก็อย่าไปตกใจ อย่าไปควาน อย่าไปหา จำไว้อย่างเดียว...กาย  สักพักนึงเดี๋ยวรู้มันก็จะเด่นขึ้นมาเอง ใจเย็นๆ อย่าไปลุกลี้ลุกลน ... ให้มันสมูธ กายใจมันสมูธ...พอดีกัน

เพราะนั้นสังเกตดู ถ้ารักษาสติได้พอดีกันมากขึ้นในวันหนึ่ง เวลามานั่งสมาธิตอนเย็นตอนกลางคืน จิตมันจะไม่ไปไม่มาไหน ความปรุงแต่งก็จะไม่ค่อยมี ความฟุ้งซ่าน กังวล วิตก ก็ไม่มี  มันก็รวมรู้เห็นชัดเจน ระหว่างกายใจ รู้มันชัดเจน จนกว่าจะมีความเมื่อยขึ้นมา ...ฝึกเผชิญหน้ากันตรงๆ รู้กับกาย

แต่วันไหนถ้าฟุ้งซ่าน สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วไปนั่ง...ไม่หลับก็ฟุ้งซ่าน สองอย่าง  แล้วก็หงุดหงิด หงุดหงิดตัวเอง อยู่อย่างนั้น... มันเป็นผล เห็นมั้ยว่าผลจากการที่ว่า ต่อเนื่องมาทั้งวันน่ะเราใช้จิตมันมากเกิน ...เหมือนเราไปให้กำลังของจิตที่ปรุงแต่ง พอดับเครื่องแล้วเครื่องก็ยังร้อน

เหมือนรถ วิ่งมาร้อยกิโลพันกิโลอย่างนี้ ดับเครื่องแล้วเครื่องมันไม่เย็นสนิทหรอก มันก็มีอาการตกค้างอยู่  นั่นน่ะคือความฟุ้งซ่าน เป็นผลจากการที่มันเดินเครื่องมาทั้งวัน มันวิ่งโดยไม่หยุดพักผ่อนเลย เวลาจะให้มันหยุดให้มันนิ่ง มันไม่นิ่งหรอก

มันก็ต้องเสวยวิบากของมัน...คือผล  ก็ต้องอดทน อดทน ...อย่าหงุดหงิดรำคาญ  ตอนนั้นมันจะเริ่มไม่ได้ดั่งใจน่ะ  จริงๆ มันเป็นเหตุและเป็นผลของมันอย่างนั้น  เมื่อเราใช้จิตมาก บทจะหยุด...มันไม่หยุดง่ายๆ หรอก มันก็เคลื่อนๆๆ อยู่ตลอด

มันยังเหมือนมีแรงเฉื่อยของมันอยู่ เป็นพลังที่สะสมที่เป็นผลมาจากการที่มันออกกำลัง มันก็มีการเหงื่อออกร้อนบ้างอะไรอย่างนี้ ... แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้จิตคิดจิตปรุงมาก ทั้งวันเราอยู่กับการรู้ พอนั่งปุ๊บ จับปุ๊บนี่ เหมือนจับแก้วน้ำวางบนโต๊ะเลย แก้วมันก็ตั้ง ไม่ขยับ ไม่ไหว  เพราะนั้นถ้าสติมันรักษาได้ต่อเนื่อง มันจะง่าย

อยู่ดีๆ จะไปนั่งสมาธิให้มันรวม มันไม่รวมให้ง่ายๆ หรอก  มันต้องประกอบด้วยหลายเหตุปัจจัย ...ระหว่างวันน่ะ ศีลสมาธิปัญญามันต่อเนื่องมั้ย มันมีมั้ย  หรืออยู่กับความไหลความหลง ความเผลอความเพลินทั้งวัน  กลับมา...นั่งยังไงก็ไม่รวม ใจก็ไม่รวมเป็นหนึ่ง จิตก็ไม่รวมเป็นหนึ่ง มันมีแต่แส่ส่ายเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันไม่ยอมวาง มันยังไม่ยอมทอดธุระกับความปรุง

เพราะนั้นน่ะ เวลาตื่นนอน  ธรรมดาเวลาตื่นนอนมาจิตมันจะซึม เ ริ่มต้นตื่นขึ้นมา มันไม่ผ่องใส ซึม เบลอ  ...ก็ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ ทำความระลึกรู้ ชัดๆ ขึ้น ...ความเคยชินน่ะ มันรีบร้อน  ก็พยายามให้มันหยุดด้วยการรู้ตัว ระลึกรู้

ไม่ได้ห้ามอารมณ์ ...แต่ให้รู้อารมณ์ ให้ทันอารมณ์ ทันเมื่อไหร่ทันเมื่อนั้น  แล้วจากนั้นก็ให้เร็วขึ้น เร็วขึ้นไปเรื่อยๆ  แต่ว่าอารมณ์ก็เป็นปกติของจิตไป มันจะขึ้น มันจะมา มันจะมีอารมณ์ มีอาการอะไรก็มี...แต่ว่ารู้ต้องไม่หายไปไหน  

ถ้ารู้ไม่หายไปไหนมันจะปรับสมดุลให้ มันจะปรับเป็นกลางๆ อารมณ์ก็เป็นกลางๆ ถึงจะโกรธ ถึงจะหงุดหงิด ก็มีความรู้ตัวอยู่เสมอ อย่างนั้น

มันก็เรียนรู้ไปว่าหลงอารมณ์มั้ย  เช่นอย่างนี้แปลว่าหลงอารมณ์ หลงไปในอารมณ์ แล้วมันรู้เร็วขึ้น ...ให้รู้เร็วขึ้น รู้ตัว  ต่อไปมันจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้น  พอมันเริ่มจะวูบ จะวาบ จะไหวน่ะ แค่ไหวมันก็รู้แล้ว

ไอ้พวกเรานี่มันเลยไหวมาแล้ว(โยมหัวเราะ) ... ถ้ามันเลยไหวมาแล้วค่อยรู้...มันหลง หลุด ตกร่องแล้ว  แต่ถ้ามันทำความรู้ได้ต่อเนื่อง แค่ไหวมันก็รู้แล้ว ขยับนี่ก็รู้ เคลื่อนนี่ก็รู้ รู้สึกตัวก่อน  

พอเริ่มเคลื่อนมันก็รู้สึกว่าผิดปกติแล้ว มีอาการผิดปกติของใจเกิดขึ้น ของจิตที่มันจะไปจับอารมณ์ ไปหมายมั่น เขาเรียกว่าไปหมายมั่นในรูป

การภาวนานี่มันค่อยเป็นค่อยไป มันไม่เร็วหรอก มันเก็บเล็กผสมน้อยไปอย่างนี้  หลุดบ้าง รู้บ้าง ๆ แต่ว่าไม่ถอย ไม่ทิ้ง ... เหมือนฝนตก ฝนตกพรำๆ น่ะ แต่ต่อเนื่อง ...ไม่เอาแรง ไม่เอาแรงแบบเทเป็นซู่ เป็นพัก แล้วก็แล้ง นี่ อย่างนี้ต้นไม้ตายหมด

แต่ถ้าเป็นฝนตกพรำ ไม่มากไม่น้อย แต่ว่ามันต่อเนื่องไป เบาๆ ต้นไม้มันจะเขียวชอุ่มงอกงาม  ไม่ใช่ว่าจะเอาแบบแรงๆ ทีเดียว เดี๋ยวมันหมดกำลังแล้วก็ทิ้ง ปล่อยแล้งไปเป็นเดือน แล้วค่อยมาตกแรงใหม่  ต้นไม้ตายหมด

ใจมันก็ไม่เจริญงอกงาม ผู้รู้มันก็ไม่แข็งแกร่ง ไม่แข็งแรง ... แต่ถ้าฝนตกพรำไปเรื่อยๆ เอื่อยๆ  แต่ว่าไม่ทอดธุระ เนืองๆ เป็นนิจ  ไม่มีอะไรก็รู้ๆๆ ระลึก  นึกไว้แล้วก็น้อมลงที่รู้ น้อมไว้ น้อมไว้กับรู้

เวลาเคลื่อนไหวก็ให้รู้ ...อยู่ในที่ทำงานมันก็ต้องเคลื่อนไหวอยู่ ใช่ป่าว มันเคลื่อนไหวไปๆ มาๆ ... ก็พยายามช้าๆ ตั้งสติให้ดีก่อนจะเคลื่อน แล้วก็รู้ตามมัน ดูตามมัน เบาๆ ให้เป็นธรรมดา รู้หลวมๆ เบาๆ สบาย

รู้แบบไม่ใช่กำ รู้แบบประคองรู้เบาๆ แต่ว่าให้ต่อเนื่องไป  ไม่ใช่เอาชัดเอากำแน่นเอาให้ชัดเจน อย่างนั้นมันจะขาดจากข้างนอกเกินไป ... ให้มันเบาๆ แล้วก็ทำไปก็ดูไปรู้ไป  ไม่เอา ไม่หวังผลอะไร รู้อยู่กับตัว...ในกาย เป็นเครื่องระลึกไว้

แต่เวลามันจะเผลอนี่  พอมันจะหยุด พอกายมันหยุดเคลื่อนไหวนี่ มักจะเผลอตรงนั้น หายไป ...ลอย มันจะเกิดภาวะเลื่อนลอย ปล่อย หลง เพลินไปกับอารมณ์ความคิดที่ไม่สุขไม่ทุกข์  มันไหลเรื่อย ซึมซาบออกไป

มันมักจะไม่ค่อยมีสติตอนนั่งเฉยๆ ... มันก็หลงคิด หลงปรุง หาโน่นหานี่ คิดเรื่องคนโน้นคนนี้  ให้ระลึกขึ้นไว้บ่อยๆ ตอนนั่ง ระลึกไว้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ  รู้ตัว รู้อะไรก็ได้ ไม่มีอะไรก็รู้ๆๆ

เวลาพูด ก่อนจะพูด ต้องตั้งเตรียมใจให้ดี ... ให้ตั้งมั่น ก่อนจะพูด  อย่าเพิ่งรีบพูด ตั้งสติก่อนแล้วค่อยตอบ  แล้วก็ดูอาการ ดูคำตอบ ดูคำพูด ดูปาก ดูอะไร ก็มารู้อยู่ที่กายไป ที่ปากก็ได้ ที่เสียงก็ได้ ให้มันต่อเนื่อง  

มันก็ต้องรู้เองน่ะว่าในอิริยาบถปกติมันลืมตรงไหน มันลืมตอนไหนมาก  มันจะลืมที่เดิมน่ะ อยู่ที่เก่า อิริยาบถเก่า ...ก็พยายามใส่ใจตรงนั้นมากๆ ... แต่ไม่ต้องเคร่งเครียด ไม่ได้เอาอะไรอยู่แล้ว รู้อย่างเดียว ให้มันเหลือแต่รู้ไว้อย่างเดียว  แล้วมันจะเริ่มเข้าใจในตัวของมันเอง มันจะชัดเจน

แต่ถ้าเมื่อใดเวลาที่มันสงบ หรือมันรู้ได้ตั้งมั่นดีแล้วนี่ พยายามให้ชัดเจน ให้แยบคายในสองสิ่งว่า กายคืออะไร รู้คืออะไร ให้มันชัดเจน ให้มันเห็นแยกกันชัดเจน

เวลามันไม่มีอะไร มันจะหลง จิตน่ะ  เพราะพวกเรายังไม่ชำนาญเรื่องจิต ... ก็พยายามให้เห็นทรวดทรงของกายไว้ ให้อยู่ในทรวดทรงของกาย สัณฐานของกาย ให้รู้อยู่กับสัณฐานของกาย  ถ้าไม่มีสัณฐานของกายเป็นเครื่องรู้ มันจะไหลออกนอกกาย....ไปตามอาการของจิต.

(ต่อแทร็ก 7/3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น