วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 7/1








พระอาจารย์

7/1 (550130)

30 มกราคม 2555


พระอาจารย์ –  กายใจ ให้พอดีกัน ... ถ้าไม่พอดี ส่วนที่ไม่พอดีนั่นน่ะคือส่วนที่ปรุงแต่ง ... เหมือนขันธ์นี่ ขันธ์มันมีพอดีอยู่เท่านี้...เท่ากับปัจจุบัน 

ถ้าขันธ์ที่เกินจากปัจจุบันกายปัจจุบันจิต...ตรงที่รู้อยู่เห็นอยู่ตรงนี้  พวกนี้เป็นอุปาทานขันธ์ทั้งหมด หรือว่าเป็นขันธ์หลอก ขันธ์ปลอม ขันธ์ไม่จริง เป็นขันธ์ที่ไม่มีสาระแก่นสาร

แล้วถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นรู้อยู่กับปัจจุบัน ก็มักจะหลง เผลอเพลินไปกับมัน ...เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปหมายมั่น แล้วก็เกิดความหลงผิดจริงจัง...คิดว่าตัวนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริง ตัวเรา ความเป็นเรา ความเป็นของเรา ... ก็ไปเป็นทุกข์เป็นสุขล่วงหน้าเกิดขึ้น

เพราะนั้นน่ะ การที่จะอยู่กับปัจจุบัน รู้เห็นปัจจุบัน มีการสอดส่องอยู่เสมอ  นี่เขาเรียกว่ามีการพิจารณาธรรม ใคร่ครวญธรรมอยู่เสมอ ... อะไรมันเกิดขึ้นมา อะไรมันปรากฏขึ้นมา  ก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจ หรือว่าดีใจเสียใจอะไร ... ให้ใคร่ครวญด้วยความแยบคายว่าธรรมนี้คืออะไร จริงหรือปลอม ใช่หรือไม่ใช่ เกินหรือขาด

ถ้ามันไม่ใช่ มันก็ต้องมาเทียบเคียงดูกับปัจจุบันขันธ์ที่ปรากฏ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านี้ ... นอกนั้นละได้ละไป อย่าไปจริงจังกับมัน ... ก็จะเห็นว่ามันเป็นขันธ์ที่อุปาทานขันธ์ ขันธ์ใน เป็นขันธ์ไม่จริง ขันธ์ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ อุปาทานทุกข์ ขันธ์ที่เกิดความต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น ขันธ์ที่ไม่มีวันจบ

ก็มาอยู่กับขันธ์ปัจจุบัน แล้วก็รู้อยู่เห็นอยู่  ยืน เดิน นั่ง นอน...เดี๋ยวก็เกิดเดี๋ยวก็ดับ  แล้วก็มาเรียนรู้ปัจจุบันธรรมปัจจุบันขันธ์ มันก็เห็นปัจจุบันนั้นเป็นขันธ์...แค่ชั่วคราว  เห็นความเป็นชั่วคราว...แล้วก็หายไป เกิดใหม่แล้วก็หายไป  

ตั้งอยู่...ก็ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง ตั้งอยู่บนความเป็นกลาง ตั้งอยู่บนความเป็นปกติ ตั้งอยู่บนความเป็นธรรมดา ...คือมันไม่ใช่ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร เหมือนกับเป็นซากขันธ์ อยู่กับซากขันธ์ที่แท้จริง

ส่วนอาการที่เป็นนามธรรม นามขันธ์ ... ถ้าจำเป็นต้องใช้ ต้องคิดต้องปรุง ก็ใช้ไปจบไป เป็นเรื่องๆๆ ไป ... ถ้าไม่มีอะไร ไม่จำเป็นต้องคิด ไม่จำเป็นต้องปรุง...ก็ไม่ต้องปรุง ก็ละ ก็วาง ก็ปล่อย  ก็แค่รู้ว่า ...เออ มันคิด ...อ้อ มันปรุง ...อ้อ มันคิด ...อ้อ มันปรุง แค่นั้น

อย่าไปสนใจ อย่าไปจริงจัง อย่าไปหา หรือว่าให้มันพาไปหาอะไร ให้ความคิดพาไปหาอะไร ...คือไม่ตามใจมัน ไม่ตามมันไป ไม่ตามอารมณ์ ไม่ตามความอยาก ไม่ตามความไม่อยากออกไป

ใจมันจะต้องตั้งมั่นเข้มแข็ง ...ถ้าใจอ่อน ใจไหว ใจอ่อนแอนี่  มันมักจะตกลงไปในกระแสความปรุงแต่ง กระแสโลก กระแสผัสสะ ...พวกนี้มันจะมีอยู่ตลอดเวลา

ถ้าไม่มั่นคงหรือว่าไม่เอาจริงในการที่กลับมาตั้งอยู่ในฐานกายใจ รู้อยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้นี่  ในโลก...ที่เราทำงานอยู่...ที่เราสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนอยู่  ยังไงๆ มันจะเป็นช่องทางออกอยู่ตลอดเวลา  ที่จะไหลเลื่อนลอยออกไปตามรูปเสียงกลิ่นรส ตามความอยากนิดๆ หน่อยๆ

ไอ้เริ่มจากนิดๆ หน่อยๆ นี่ เดี๋ยวมันจะยืดยาวไปเลยแหละ  บางทีว่า เฮ้ย ไม่เป็นไรหรอกๆ ปล่อยมันไปๆ ไม่เป็นไรไม่ต้องดู ไม่ต้องจริง  เดี๋ยวเหอะ มันจะก่อร่างสร้างฐานเป็นความหลง

ยาก...ดึงกลับยากแล้ว  พอกลับมามีสติจะระลึกรู้นี่ มันเหมือนกับกระแสน้ำหลากน่ะ  พอเป็นกระแสน้ำหลากแล้วเราไปยืนอยู่ตรงนั้น น้ำเชี่ยวน่ะ โอ้ย เราก็เหมือนกับใบไม้ลอยอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวน่ะ ...มันไม่มีทางตั้งหลักตั้งฐานได้เลย

แต่ถ้าเราไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ  แล้วก็รู้อยู่เสมอ รู้อยู่เนืองๆ รู้อยู่เป็นนิจ  ไม่ว่านิด ไม่ว่าหน่อย ไม่ว่ามันจะเคลื่อน ไม่ว่ามันจะขยับ นิดนึงก็รู้ หน่อยนึงก็เอา ... กลับมารู้ไว้ ตั้งไว้  ไม่มีอะไรก็ต้องรู้  ไม่มีอารมณ์ก็ต้องรู้ ...ก็มารู้กายเป็นฐานไว้

เนี่ย ใจมันจะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ  สมาธิมันจะตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว ... ยิ่งไม่หวั่นไหวเท่าไหร่ มันจะยิ่งเห็นชัดเจนในความเป็นไตรลักษณ์มากขึ้นเท่านั้นเอง ... ไม่ต้องไปหาความเป็นไตรลักษณ์หรอก ขอให้จิตตั้งมั่นเถอะ ...มันเห็นเอง  

เห็นอาการผ่านไปผ่านมา ไหลไปไหลมา  เห็นอาการที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา  มันเป็นอาการอะไรอย่างหนึ่งแค่นั้นเอง วูบวาบๆ ผ่านไปผ่านมาแค่นั้นเอง ... มันก็จะดำรงความเป็นกลาง ด้วยใจที่ตั้งมั่น รู้อยู่เห็นอยู่อย่างเดียว...นั่นแหละเป็นหลัก

เพราะนั้นสมาธิสำคัญ ... ถ้าไม่ตั้งมั่น ถ้าไม่เข้มแข็งนี่ จะถูกกระแสโลกกระแสขันธ์นี่ พัดพาไป  ไปตามกระแสที่เกิดอาการที่เรียกว่า “หมุนวน” วนไปหาทุกข์  แล้วก็จมดิ่งลงไปในกองทุกข์ เร่าร้อน ขุ่น

ถึงไม่ทุกข์เป็นก้อนเป็นกำ...ก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว เกิดความไม่ชัดเจนในสิ่งใดเลย  มันเกิดความละล้าละลัง ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ ประมาณนั้น  นั่นแหละคือความเศร้าหมอง เป็นมลทิน ... อยู่กับความเป็นมลทิน จิตก็ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส ไม่สบาย

ไม่สบาย ... รู้สึก...นั่งก็ไม่สบาย ยืนก็ไม่สบาย ไปไหนมาไหนก็ไม่สบายใจ  เพราะว่ามันอยู่แบบตามสบายเกินไป ปล่อยให้มันอยู่แบบสบายๆ เกินไปน่ะ  ต่อไปก็จะรู้ว่ายืนเดินนั่งนอนนี่หาที่สบายไม่เจอเลย เพราะมันเคยชินกับการที่ว่าไม่ขวนขวายที่จะทวนกระแส

ต้องฝึกทวนตั้งแต่ตอนที่มันไม่แรงน่ะดีแล้ว อย่าขี้เกียจ  นักภาวนาขี้เกียจ ...ขี้เกียจ คือ ตามสบาย อยู่แบบตามสบาย  ...ยิ่งพอเริ่มเข้าใจแล้ว อะไรแล้วนี่

คือการปฏิบัติเบื้องต้นน่ะ เข้มแข็งนะ เอาจริงเอาจังนะ ... ได้ฟังครูบาอาจารย์นี่ ฟังแรกๆ นี่...โอ้โห เอาใหญ่เลย ... สักพักหนึ่งพอมันเริ่มอยู่ตัว เอาแล้ว รู้สบายๆ ปล่อยแล้ว... ยังไงก็ได้ มันไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวมันก็รู้กลับมาได้นี่ มันเริ่มประมาทแล้ว ...พอเริ่มกลาง เริ่มขี้เกียจแล้ว

มีความเนิ่นช้านะ ในการเดินในองค์มรรค ... เดี๋ยวมันก็เริ่มช้า ไปทางประมาท...ประมาทเลินเล่อ คิดว่าไม่มีอะไร ยังไงก็ได้ เข้าใจดีแล้วๆ ... ไอ้เข้าใจดีแล้วนี่แหละ...เสร็จทุกราย ...ไหล ปล่อยให้มันลอยไป

ต้องกระชับพื้นที่อยู่เสมอ กระชับอยู่บ่อยๆ  นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา ... ต้องตั้งไว้ อยู่ในฐานกายใจ อยู่ปัจจุบันน่ะ ... ที่ต้องกระชับไว้บ่อยๆ นี่ไม่ใช่เพื่ออะไรหรอก ...เพื่ออยู่กับปัจจุบัน

กายนี่เป็นที่ยึดโยงให้มันอยู่กับปัจจุบัน...แล้วมันเกิดความพอดีเป็นกลาง  ระหว่างกาย – ใจนี่ มันจะเกิดความเป็นช่องว่างระหว่างเป็นกลาง  พอเป็นช่องว่างระหว่างเป็นกลางกาย-ใจนี่  มันเหมือนเป็นกำแพงที่กั้นไว้  แล้วก็ภายในนามธรรมมันเกิดความปรุงแต่งอะไร มันก็เห็นชัดเจนอยู่ภายใน

เพราะนั้นถ้าอยู่ตรงนี้ ... แรกๆ อาจจะฝืน ขืนหน่อย  แต่พอมันเริ่มอยู่ตัวดีแล้วนี่ จะรู้สึกว่ามันอยู่สบาย  นั่งก็สบาย ไปมาก็สบาย  ได้ยิน ได้เห็นอะไรมันก็สบาย  มันไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่กับรูป กับเสียง กับกลิ่น  มันก็มีความพอดีพอเหมาะๆๆ อยู่ตรงกายใจตรงนี้

แล้วมันก็จะเห็นอาการวูบวาบ...จิตที่มันกระโดดไป  จะกระโดดไปจับ จะกระโดดไปคว้า จะกระโดดไปในอดีต จะกระโดดไปในอนาคต จะไปจับอะไร จะไปปรุงอะไร ... มันจะเห็นชัดเจน แล้วก็เห็นพร้อมกับปล่อย เห็นพร้อมกับวางไปในตัวของมันเองๆ อย่างนั้น  ใจมันก็ยิ่งเบาขึ้นๆๆ  เบาจากภาระของการที่จะไปจริงจังในอุปาทานขันธ์น่ะ 

ไอ้ที่ว่ารู้สึกว่าหนักอกหนักใจเนี่ย ... ไอ้คำว่าหนักอกหนักใจนี่ มันเกิดจากความเข้าไปหมายมั่นในอุปาทานขันธ์ พวกนี้...ที่คิดบ้าง ปรุงบ้าง ‘…เอ๊ เค้าจะเป็นยังไง เราจะเป็นยังไง วันพรุ่งนี้เราจะเจออะไรบ้าง  แล้วหนักใจ ...เห็นมั้ย มันเป็นเรื่องของอดีตอนาคตเข้ามาปรุงแต่ง

แต่ถ้าอยู่ตรงนี้  มันจะรู้สึกเบา ไม่มีขันธ์ที่ไม่จริงมาหลอก ที่ว่า เราจะต้องอย่างนั้น...เดี๋ยวจะต้องเป็นอย่างนั้นแน่ เดี๋ยวจะเจออันนั้นแน่ เดี๋ยวจะต้องมีปัญหาอะไรๆ กับคนนั้นกับคนนี้แน่ พวกนี้มาหลอก ... มันก็เลยเป็นของหนัก  เพราะไปแบก ...ไปแบกไปหามไอ้สิ่งที่ยังไม่มีตัวไม่มีตนเลยนะ

แต่ถ้าอยู่แค่นี้ ... มันก็หนักเบาแค่ตรงนี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ปวด เมื่อย ... เหล่านี้เป็นทุกขสัจ เป็นทุกข์ธรรมชาติ เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง เป็นทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นทุกข์ที่มีอยู่แล้ว และต้องมีต่อไป ...นี่ ยอมรับ แล้วอยู่กับมัน  ก็เข้าใจมัน...ว่าเป็นทุกข์ของมันนะไม่ใช่ทุกข์ของเรา

มันก็เรียนรู้ตอนนี้ ... มาอยู่กับปัจจุบันเพื่อจะเรียนรู้ว่า...เป็นทุกข์ของมันนะ เป็นทุกข์ของขันธ์นะ เป็นทุกข์ของโลกนะ ไม่ใช่ทุกข์ของเรานะ

มันก็เรียนรู้จนจำแนกธรรมออกเป็นส่วนๆๆ ... พอธรรมไหนไม่ใช่ ธรรมไหนไม่จริง  ธรรมไหนที่เกิดจากอวิชชาความไม่รู้มันปรุงมันแต่ง มันแต้มมันเติม มันแต้มสีมันแต้มสันขึ้นมา  มันก็รู้ เออ อันนี้ไม่ใช่’ … ปัญญามันแหลมคม มันว่องไว พั้บๆๆๆ ไม่เอา ไม่เอาๆ

ใจมันก็เข้มแข็งนะ ... ไอ้ตอนที่ไม่เอาๆ นี่ต้องเข้มแข็งนะ  ถ้าไม่เข้มแข็งนะ เออะ อย่างนั้นมั้ง ต้องอย่างนี้มั้ง ... เริ่มมีเงื่อนไขแล้ว ไอ้นั่นก็ละไม่ได้ ไอ้นั่นก็พ่อ ไอ้นี่ก็แม่ ไอ้เนี่ยก็งาน ไอ้นี่ก็ โห อย่างนั้นอย่างนี้  ... มันไม่เข้มแข็ง มันอ่อนแอ  เดี๋ยวก็จะกลายเป็นใบไม้ลอย ปลิวไปตามลม ปลิวไปตามกระแสน้ำอีกแล้ว  มันก็หมุนวน ดำดิ่งลงไปในกองทุกข์ กองโลก กองขันธ์

สติ ... เบื้องต้นน่ะต้องมีสติ  เมื่อมีสติแล้ว สตินั้นเอามาระลึกรู้กาย...ปกติกาย  เห็นมั้ย ปกติกายก็คือศีลนะ  ศีลที่เป็นปกติกายก็คือ นั่งก็รู้ว่านั่ง นั่งรู้สึกว่าแข็ง แข็งก็เป็นปกติของนั่ง อย่างเนี้ย  ไหวก็เป็นปกติของมัน เย็นร้อนอ่อนแข็งก็เป็นปกติของกาย  นี่ ศีลนี่มาแล้ว ศีลในกายก็ปรากฏ  สติก็มาระลึกรู้ความเป็นปกติของกาย  เห็นมั้ย นี่เริ่มต้นอย่างนี้นะ

พอเริ่มต้นจากสติปกติ รู้ปกติ รู้เห็นปกติกาย ปุ๊บ มันก็เป็นของสองสิ่ง  นี่สมาธิมันจะเริ่มเกิดตอนนี้ ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม คือกายปกติ  มันก็จะชัดเจนในของสองสิ่ง

เพราะนั้น ทำยังไงถึงจะให้จิตตั้งมั่น พยายามรู้ให้ชัดกับปัจจุบัน  ยืน...รู้ให้ชัดในของสองสิ่ง มีแต่ยืนกับรู้ มีแต่รู้กับยืน อย่างเนี้ย  ไหว...มีแต่ไหวกับรู้ รู้กับไหว  พยายามให้ชัดในสองสิ่งในปัจจุบันที่มันกำลังทำอะไรอยู่ทางกาย หรือมันแสดงอาการอะไรอยู่

ให้รู้ชัดในสองสิ่งตรงนี้  ใจมันจะเริ่มรวม รวมตั้งมั่นเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา  ไม่แส่ส่าย ไม่แตกกระจาย ด้วยอำนาจของความปรุงแต่ง ด้วยอำนาจของจิตตสังขาร จิตที่มันทะเยอทะยาน หรือว่าจิตที่มันแตกกระสานซ่านเซ็นออกไป  ก็พยายามกลับมารู้ รู้อยู่กับกายปัจจุบันให้ชัดในของสองสิ่งแค่นี้

แต่ง่ายๆ  นะ  อย่าไปเพ่ง อย่าไปเครียดนะ อย่าไปเคร่งไปเครียด เดี๋ยวมันจะแรงเกินไป  มันแรงเกินไปเดี๋ยวมันจะเหมือนกับผีบ้า... แบบผีดิบน่ะ เป็นผีดิบไปเลย  เดินก็เป็นทื่อๆ ใครพูดใครจาก็ไม่สน กูไม่สนใครเลย อะไรอย่างนั้น  มันเข้าขั้นวิกฤติที่เรียกว่าอุกฤษณ์ (หัวเราะ) คืออุกฤษณ์จนเป็นวิกฤติ เข้าใจมั้ย มันเกิน มันเป็นอัตตะเกินไป

เพราะนั้นการรู้การเห็น การรู้กายปกติ กายเขาเป็นปกติธรรมดานี่ มันจะเป็นลักษณะอย่างเนี้ย มันไม่ได้กำ เข้าใจมั้ย กายก็เป็นปกติธรรมดาหยุ่นๆ อย่างนี้  ใจที่เรารู้ ก็รู้แบบเบาๆ อย่างเนี้ย  มันไม่ได้แข็งเขม็งตึงอย่างนี้นะ  รู้เบาๆ รู้ธรรมดาอย่างเนี้ย แล้วมันจะแข็งแรงขึ้นเอง

ไม่ใช่ว่าปุ๊บนี่จะเอาให้ชัดเลย จะเอาให้รู้ชัดอย่างนี้ๆ มันเกินไปแล้ว  อย่าไปกำ รู้เบาๆ หยั่งๆ ลงไป หยั่งๆๆๆ  คำว่าญาณนี่แปลว่าหยั่งรู้นะ ญาณ..ปรีชาญาณ คือการหยั่งรู้ในสองสิ่ง ใช้การหยั่งให้ชัด...หยั่งแล้วให้มันชัด  ไม่ใช่ไปบังคับให้มันชัด มันกำอย่างนี้มันจะเครียดนะ เครียดแล้วแข็ง แข็งแล้วเดี๋ยวเปราะ  ของไหนถ้าแข็งแล้วเปราะ แตกง่าย หักง่าย กะเทาะง่าย

แต่ถ้าเบาๆ หยุ่นๆ  รู้หยุ่นๆ รู้เบาๆ อย่างนี้ มันก็ไม่ได้กำแน่น ... รู้เบาๆ มันจะเหนียว ยืดหยุ่น แต่แข็งแรง ทนทาน  อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ มันจะเป็นอย่างนั้น  อ่อนไหวคือมันจะว่องไว สลับไหวพริบ พร้อมที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  เมื่อกายเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนได้พร้อมกัน

เนี่ย ต้องฉลาด...ต้องฉลาดในอุบาย ต้องฉลาดในวิถี  เรียนรู้เอา...ประสบการณ์ ไม่ใช่ทื่อๆ มะลื่อ โง่ซึม ทำอะไรก็ทำไปเซ่อๆ ไปอย่างนั้นน่ะ ไม่มีปัญญา  ต้องคอยสังเกตสอดส่องอยู่เสมอ ยังไงอันไหนหนักไป อันไหนเบาไป  รู้ยังไงหนัก รู้ยังไงเบา  ไอ้รู้ถ้าเบาเกินไปก็ไหล ไอ้รู้หนักเกินไปก็แข็ง นี่ รู้ยังไงที่จะรู้สบายๆ แต่ว่าอยู่ได้นาน อยู่กับกายได้ต่อเนื่อง เห็นสองสิ่งได้ชัดเจน

เนี่ย พวกนี้เป็นวิชาการที่ไม่มีในตำรา  แต่มันมีในภาคปฏิบัติ มันมีในภาคสนาม  มันถึงว่าต้องไปฝึกแบบแรงเยอร์น่ะ ไม่ใช่มาอยู่เรียนในเล็คเชอร์ ... ต้องแรงเยอร์ เข้าไปลงในสนาม

ไอ้พวกเรานี่เขาเรียกอะไร หมู...หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม  มันเก่งอย่างเนี้ย ไอ้ตอนฟัง...(เน้นเสียง)...มันเข้าใจ่จจ รู้หมดทุกเรื่อง ... แต่ลงสนามจริงน่ะหมู...หมูทั้งนั้น (หัวเราะ) ...เสร็จทุกราย  โดนเชือด โดนเชือดเอาไปตุ๋น  แล้วโดนตุ๋น โดนโลกตุ๋นมั่ง โดนขันธ์นี่ตุ๋นมั่ง โดนคำพูดคนอื่นตุ๋น โดนอาการของคนอื่นตุ๋น ตุ๋นซะเปื่อยเลย

เพราะนั้น นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา ...มีเวลาตอนไหนที่รู้ตัวได้ พยายามทำความชัดเจนตรงนั้น  นิดเดียวก็ยังดีนะ ขอให้มันชัดเจน...ขอให้มันชัดเจน  มันจะเป็นประสบการณ์ มันจะเป็นความชำนาญ  มันเกิดความชำนาญ มันจะเกิดมีชวนะในตัวของมันเอง  ชวนะคือว่องไวไหวพริบ พึ้บพั้บๆ กลับมา ... อย่าไปซึม ปล่อย

อาการซึมนี่จำไว้เลย...เดี๋ยวไหล เดี๋ยวเลื่อน ซึม เบลอ  แล้วก็อะไรก็ไม่ชัด รู้ก็ไม่ชัด สิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ชัด...แต่ดูเหมือนรู้อยู่น่ะ  อย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่าซึมนะ เศร้าหมอง ขุ่นนะนั่นน่ะ ...ไม่ใช่สตินะ สติไม่ใช่อย่างนั้น สมาธิไม่ใช่อย่างนั้น  สมาธิ สติ นี่ผ่องใสนะ แจ่มใสนะ ชัดเจนนะ ชัดเจนในตัวของมัน

คำว่าชัดนี่ คือชัดในปัจจุบันกับสิ่งที่รู้ แค่นั้นเองนะ ไม่ใช่ไปชัดเรื่องอื่นนะ  ไม่ใช่ไปชัดตามตำรา ไม่ได้ชัดในเรื่องราวคนอื่น หรือเข้าใจในเรื่องคนอื่น  หรือเข้าใจในสิ่งที่...สภาวธรรมที่ยังไม่ถึง หรือเคยเข้าใจมา เคยได้ยินได้ฟัง  ...มันไม่ใช่

ชัดเจนในปัจจุบัน...นั่นแหละ สติจริง สมาธิจริง...ถึงบอกว่าต้องรู้จริง  เมื่อรู้จริง...รู้จริงแล้วให้รู้ชัด  เมื่อรู้จริงรู้ชัดแล้วรู้แจ้ง รู้แจ้งแล้วรู้วางเองน่ะ  รู้แจ้งแล้วมันจะวางเอง แล้วก็รู้แจ้งรู้วาง ต่อไปก็รู้ปล่อย รู้หลุด รู้พ้น  รู้แล้วก็หลุด...รู้แล้วก็พ้น...รู้แล้วก็ดับ  คราวนี้ จนสุดท้ายก็ดับไปดับมาๆ ดับจนกระทั่งดับตัวมันเองเลยนั่นน่ะ ...อาศัยรู้อย่างเดียวนี่แหละ

เพราะนั้นผู้รู้...อยู่แบบเป็นผู้รู้  รู้ว่าเดิน รู้ว่ากำลังทำอะไร รู้ว่าคิด รู้ว่ามีอารมณ์ รู้ว่าหงุดหงิด รู้ว่าอยาก รู้ว่าไม่อยาก  เห็นมั้ย อยู่แบบผู้รู้แล้ว ไม่ได้อยู่แบบผู้หลงน่ะ  จำไว้เลย สตินี่ เขาสอนให้อยู่แบบผู้รู้ผู้มีสติ คืออยู่แบบผู้รู้ผู้เห็น  ไม่ได้อยู่แบบโง่ๆ ซึมๆ กับโลกเขา  ปล่อยให้ไหลไปตามกระแส เลื่อนลอยไป ไม่ได้อยู่แบบผู้รู้เลย

การมีชีวิตต้องอยู่แบบผู้รู้...ด้วยสติ  เมื่ออยู่กับผู้รู้ผู้เห็นแล้วนี่ สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นตามลำดับลำดา  อย่าไปค้นหาอะไร อย่าไปอยากได้อะไร อย่าไปอยากมีอะไร อย่าไปอยากเป็นอะไร กลับมาเป็นแค่...อยู่ในสถานะเป็นแค่ผู้รู้ว่านั่ง ผู้รู้ว่ากำลังทำอะไร ผู้รู้ว่าคิด ผู้รู้ว่ากำลังอยาก ผู้รู้ว่ากำลังอยากไปนิพพาน

เนี่ย ให้มันเป็นผู้รู้ให้หมดเลย  อะไรเกิดขึ้นก็ขอให้เป็นผู้รู้กับสิ่งนั้นซะ เดี๋ยวมันจะฉลาดในตัวของมันเอง  ฉลาดมาทดแทน หรือว่ามาแทนที่ความไม่รู้  เพราะว่าตลอดทั้งวันแต่ก่อนมา...เราอยู่กับความไม่รู้ ทำอะไรด้วยความไม่รู้ ทำอะไร...(เน้นเสียง)ด้วยความเคยชิน

ไอ้ความเคยชินนี่สำคัญ มันคือความไม่รู้ ... ตั้งแต่ตื่นเช้ามา อาบน้ำแต่งตัวแปรงฟัน ขึ้นรถขับรถไปทำงาน ...มันทำไปด้วยความเคยชิน  ไม่ต้องกำหนดรู้เลย มันทำไปได้ พั้บๆๆ เสร็จปุ๊บนี่  แล้วไม่รู้ตัวตลอดจนถึงที่ทำงานนะ บอกให้เลย

แต่ถ้าเริ่มอยู่แบบเป็นผู้รู้นี่  ตั้งสติซะ ก่อนจะลุกขึ้นจากเตียง อย่ารีบๆ  ใจมันจะรีบ..คือกิเลสมันรีบนะไม่ใช่ใจรีบ ใจเขาอยู่เฉยๆ อยู่แล้ว  กิเลสความอยากมันบีบคั้นเลย พั่บๆๆ ต้องอย่างนั้นๆๆ’ … ใจเย็นๆ ลุกขึ้นค่อยๆ ก้าวขายกขาออกมา ตั้งสติให้มั่น ให้มันพอดีเป๊ะๆๆ กับกายไว้เป็นหลัก

ไม่ใช่ว่าตื่นมาก็คิด เอ วันนี้เราจะกำหนดอะไรดี วันนี้เราจะรู้ยังไง...ไอ้นั่นฟุ้งซ่านแล้ว บอกให้ ...ไม่ต้องแล้ว ไม่ต้องไปวางโปรแกรม...ว่าจะรู้ยังไง จะวางจิตตรงไหนอ่ะ

รู้ตรงนั้น...ว่าขามันกำลังยก เอวมันกำลังยกขึ้นมา  เออ กำลังสลัดหัวสลัดหู กำลังจะก้าวจากเตียง ใส่รองเท้า เข้าอาบน้ำ โดนน้ำร้อนน้ำเย็น รู้สึกยังไง สะดุ้ง พอใจ หงุดหงิด หรือว่าดีใจเสียใจ  นิดนึง หน่อยนึง ตรงนั้นน่ะ ให้ดูกับกายไป 

อยู่อย่างนั้นไป ดูอาการไป ให้มันทันพอดีกันๆ  แล้วก็ให้มันราบเรียบไปเป็นเส้นตรงเลย รู้เป็นกลางอยู่ตลอดทั้งวัน  ยิ่งนานเท่าไหร่ยิ่งดี  จำสภาวะที่เป็นกลางอย่างนี้ไว้  แล้วก็ง่ายๆ มันจะง่ายๆ

อย่าไปเร่งร้อน อย่าไปเร่งรัด อย่าไปรวบรัด  อย่าไปเอาความอยากมาเจือปนในการปฏิบัติ  เหมือนฝนตก ... ฝนตกพรำๆ แต่ต่อเนื่อง...ต้นไม้งอกงามดี  ไอ้ประเภทแล้งซะสามเดือนสี่เดือน แล้วฝนตกมาซู่ แบบโอ้โหย น้ำท่วมไปเลยนี่...ต้นไม้ตาย

สติ สมาธิ ปัญญา นี่ ...ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย...เอาพรำๆ แต่ต่อเนื่องไป  เห็นมั้ย เขียวชอุ่มพุ่มไสวตลอดทั้งปีน่ะ ไม่มีทิ้งใบ  เราบอกว่าต้นไม้นี่จะเจริญงอกงามถ้าฝนตกพรำๆ แต่ว่าต่อเนื่องนะ  

ไม่ใช่ว่า …‘ฮื้อ วันนี้กูไม่เอาแระ เรื่องเยอะแยะ ไม่เอาแล้ว ไม่ทำ ...ปล่อย ไม่ดูไม่แล  เห็นมั้ย ปล่อยให้ฝนแล้งซะสามเดือนสี่เดือน ... เดี๋ยวไปฟังธรรมแล้วเกิดกระเหี้ยนกระหือรือ เอาใหญ่เลย โว้ย ต้องเอาให้ได้แล้ว โอ้โห แข็งตึงขึ้นมา ... เดี๋ยวเหอะ เสร็จ ต้นไม้ตายแหงแก๋


โยม –  ไม่แข็งก็อ่อน พอดีไม่มี   

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ  เขาเรียกเป็นความเพียรที่เจือด้วยความอยาก กระเหี้ยนกระหือรือ  แล้วมันมาเป็นพักๆ เหมือนพายุบุแคม  แค่นั้นน่ะ แล้วเสร็จแล้วก็พอหมดกำลังตรงนั้นนะ โอ้ย อ่อน ไม่เอาเลย

นั่น ความเพียรแบบเขาเรียกว่าค้อนตอกสิ่ว ประเภทนั้นน่ะ  ต้องคอยตอก ต้องคอยสิ่ว ไม่ตอกก็ไม่กินเนื้อ อย่างเนี้ย ต้องอาศัยอย่างเนี้ย...แรงความอยากผลักไป

แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ เบาๆ เป็นกลาง ราบเรียบไป ให้ยืดยาวต่อเนื่องไป ได้นิดได้หน่อย นิดๆ หน่อยๆ  รู้เบาๆ เห็นเบาๆ ...แต่ชัดเจนในการรู้เห็นเบาๆ ได้แค่นั้นแหละ พอแล้ว  

อย่าไปเชื่อว่าต้องมากกว่านี้ ต้องเห็นชัด ต้องเอาให้ลึกซึ้งกว่านี้ ต้องให้เข้าใจกว่านี้ ต้องเห็นเป็นไตรลักษณ์ให้ได้วันนี้นะ อะไรอย่างนี้  อย่าไปรวบรัด เร่งรัดให้มัน ...ก็เหมือนกับขยันใส่ปุ๋ย ขยันใส่ฮอร์โมน ...เดี๋ยวเฉาตายหมด

ค่อยๆ ค่อยๆ ...การเจริญงอกงามของดอกผลของธรรมะนี่น้อย...แต่ต่อเนื่อง  เบาๆ พรำๆ ไป  แล้วมันก็จะค่อยประคับประคอง...ให้เกิดความยืดยาวของมรรคหรือว่าองค์มรรค  แล้วเส้นทางการดำเนินของมรรคก็จะแข็งแกร่ง แข็งแกร่งขึ้น

พอแข็งแกร่งมันยืดยาวขึ้นปุ๊บ มรรคตัวนี้มันจะบีบๆๆ บีบเข้ามาเหลือแค่นิดเดียว เหลือแค่ตรงนี้ เหลือแค่กายใจ แค่นี้เอง  ไม่ออกนอกกายใจเลย แค่นี้เอง  เพราะในกายนี้ก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง นามทั้งหมดก็อยู่ในกายนี่แหละ ไม่ต้องไปหาที่อื่นหรอก

ถ้าอยู่ในกายแล้วเห็นเอง...นามทั้งหมด  เมื่อใดเห็นกายชัดเจน เมื่อนั้นจะเห็นจิตชัดเจน  เมื่อใดเห็นจิตชัดเจน เมื่อนั้นน่ะจะไม่เห็นกาย  ...มันลืม มันไม่เห็นเพราะมันหลง 

แต่เมื่อใดที่เห็นกายชัดเจนนั้น จิตชัดเจนหมด เวทนาชัดเจน ธรรมชัดเจน  มันไม่หนีไปจากนี้หรอก เพราะว่าเวทนาจิตธรรมไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยนะ อยู่ในกายนี้ อยู่ภายในปริมณฑลของกายนี้ทั้งหมดเลย

มันเป็นขอบขันธสีมา มันเป็นพัทธสีมา มันเป็น...เขาเรียกว่าอารามน่ะ... กายเหมือนวัดน่ะ เข้าใจมั้ย กายเหมือนวัด ใจเหมือนเจ้าอาวาส ... นี่ หัดอยู่วัดอยู่วาซะมั่ง มัวแต่พาออกไปธุดงค์อยู่เรื่อย ...พวกเล่นจะธุดงค์ไปมา


โยม – เจ้าอาวาสไม่ค่อยอยู่วัด   

พระอาจารย์ –   ไม่อยู่วัด ... ไม่อยู่วัดแล้วเป็นไงล่ะ ... วัดก็ร้าง ขโมยก็ปล้น หยากไย่ใยแมงมุมรุงรังรกเลอะเทอะไปหมด ... พอเจ้าอาวาสกลับมาวัดที เฮ้ย อะไรวะเนี่ย วัดกูเหรอวะ ทำไมมันเป็นยังงี้วะเนี่ย’ … เอ๊า ก็หลวงพ่อมัวแต่ธุดงค์น่ะ (หัวเราะ)

มัวแต่ไปหาที่วิเวกวิเหวโหวอยู่นั่นแหละ มัวแต่จะไปหาความสุขทางหู ทางตา ทางจมูก  หลวงพ่อเล่นทิ้งวัดไปเป็นเดือนเป็นปี กลับมาเจอวัดมันจะสะอาดเอี่ยมเรี่ยมเร้เรไรได้อย่างไร  นั่น ไม่รู้จักทำนุบำรุงศาสนา มัวแต่ไปธุดงค์ เห็นมั้ย

วัดใครวัดมัน ใจใครใจมัน ... ใจแต่ละคนก็เป็นเจ้าอาวาส อยู่ในขอบขันธสีมา พัทธสีมา คือหนังหุ้มอยู่เนี่ย เป็นเขตอารามหลวง เป็นอาราม เป็นเขตสงฆ์นะ  เมื่อใดที่ใจมันอยู่ในวัดในวานี่เหมือนกับนี่แหละ เป็นพระ..เป็นพระแล้ว ไม่ต้องโกนหัวบวชชี ก็เป็นพระได้แล้ว

แต่เมื่อใดที่ออกไปธุดงค์นั่นน่ะไม่ใช่พระ  พวกอลัชชี พวกนอกรีต มัวไปทำนั่นทำนี่ ทำประโยชน์กับโลกบ้าง ไปแจกข้าวของเครื่องนุ่งห่ม ไปปรุงอาหาร เป็นจิตอาสา  โอ้ย ดีๆ  

มันดีกับโลกนะ...แต่ไม่ดีกับตัวเองเท่าไหร่  เพราะว่าตัวเองยังไม่แจ้ง ตัวเองยังไม่หลุด ตัวเองยังไม่พ้น ตัวเองยังโง่อยู่ ตัวเองยังไม่เข้าใจ ... เวลานี่มันหมดไปกับประโยชน์ทางโลกมากกว่าประโยชน์ส่วนตน 
แต่ถ้าเราเอาประโยชน์ส่วนตน คือบำรุงวัดบำรุงวา บำรุงใจให้แข็งแรงแล้ว นั่นแหละ ศาสนาจะรุ่งเรือง ... ศาสนารุ่งเรือง โลกก็ร่มเย็น

เพราะนั้นต่างคนต่างทำความร่มเย็นภายในก่อน...เป็นหลัก   จนถึงที่สุดของขันติ ของสันติ ของความสงบ ของความหลุดพ้น ของความเป็นนักบวชที่แท้จริง คือใจถูกบวชแล้ว ...ใจก็ถูกบวชไปโดยปริยาย

เพราะอะไร ... เห็นมั้ย พระนี่เขาโกนหัว เวลาผมมันงอกนี่...เขาโกนๆๆ ... ใจที่มันอยู่ข้างในเป็นเจ้าอาวาส เวลามันปรุงแต่งออกมา...ก็เหมือนกับผมที่มันงอกออกมา...ก็โกนๆๆๆ อยู่เสมอ ... มันก็บวชตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ไม่ให้มันยืดเยื้อออกมา...เป็นความคิด ความปรุง  เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้าง  เป็นเรื่องราวคนนั้น เป็นเรื่องราวคนนี้  เป็นเรื่องราวของเราในอดีต เป็นเรื่องราวของเราในอนาคต  วุ่นวี่วุ่นวายไปหมด 

ก็โกนอยู่ตลอด ... มันก็โกนด้วยศีลสมาธิปัญญาอยู่ภายใน  เป็นเจ้าอาวาสก็คร่ำเคร่งฝึกหัดอบรมจิตของตนเองอยู่เสมอ อบรมใจจนเป็นนักบวช แรกๆ ก็ต้องคอยควบคุม  ต่อไปมันก็จะเป็นโดยธรรมชาติ กลายเป็นนักบวชโดยปริยาย

เพราะใจธรรมชาตินี่เป็นพระอยู่แล้ว... เพราะว่าใจก็คือแค่รู้แค่เห็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราเข้าไม่ถึงธรรมชาติตัวนั้น ... พอเราเริ่มเข้าไปเปิดประตูใจได้แล้ว เห็นใจแล้ว ก็จะเห็นว่าธรรมชาติจริงๆ ของใจนี่คือพระโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ... เรียกว่าพุทธะอยู่ที่นี้ ธรรมะอยู่ที่นี้ สังฆะก็อยู่ที่นี้แล้ว ...เจอแล้วๆ  เจอแล้วก็...ยิ่งเจอเท่าไหร่ ไม่หาที่อื่นแล้ว

ถ้าเข้าไปเห็น ... แง้มประตู...แง้มประตูใจ พอเปิดเข้าถึงประตูใจ เห็นประตูใจ ... โอ อยู่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าอยู่ก็ที่นี่ พระธรรมก็อยู่ที่นี่ พระสงฆ์อริยสาวกก็อยู่ที่นี่...แบบไม่มีประมาณเลย ในใจตรงนี้นี่ เนี่ย เห็นแล้ว

คราวนี้พอเห็นว่า...นี่อยู่ที่นี่แล้ว ไม่หาที่อื่นแล้ว  อะไรมันจะหลอก มันจะล่อ มันจะลวง มันจะชักจูง มันจะอย่างนู้นอย่างนี้ มันจะมีข้อเสนอแนะอย่างนั้นอย่างโน้น...เป็นเซลส์แมน  ก็ไม่ไปแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ซื้อของมัน  ของแถมไม่เอา ของฟรีก็ไม่เอา มันลดแลกแจกแถมยังไงก็ไม่เอา 

เจอแล้วที่ว่าค้นหาอยู่ที่ไหน ... นั่นแหละเขาเรียกว่าใจดวงนั้นก็จะเข้าสู่ไตรสรณคมน์มากขึ้นๆ  ถึง..เข้าถึงไตรสรณคมน์  ใกล้ชิดไตรสรณคมน์  จนที่สุดเป็นหนึ่งเดียวกับไตรสรณคมน์...คือหนึ่งเดียวกับพุทธะ ธรรมะ สังฆะ นั่นแหละคือหนึ่งที่ใจดวงเดียวเท่านั้น

การภาวนานี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องนอกตัวเลย  เมื่อเริ่มหลง เมื่อเริ่มไหล เมื่อเริ่มเผลอ เริ่มกระโจนหาอะไรออกไปข้างหน้าข้างหลังก็ตาม  เมื่อรู้ตัวแล้ว...กลับมาตรงนี้ทันที ไม่อิดออด...โดยไม่อิดออด

นั่นแหละมันจะสร้างกำแพงใจขึ้นไปตามลำดับ ให้มีความเข้มแข็ง อดทน ... อดทนเป็นพื้นฐานอย่างยิ่ง ที่จะให้มันเข้มแข็ง ...ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ ไม่หวั่นไหวไปตามกิเลส ไม่หวั่นไหวไปตามความอยาก ไม่หวั่นไหวไปตามความไม่อยาก

ต้องลงทุนหน่อย ... ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรอก  ถ้าได้ง่ายมันไปนิพพานกันหมดแล้ว เพราะว่าทุกคนก็อยากไปนิพพานทั้งนั้น แต่ว่าไม่ลงทุน ... ไม่ลงทุน ไม่ตั้งใจ ไม่เอาจริง นั่นน่ะ ปัญหามันอยู่ที่นี้น่ะ ขี้เกียจ นอนก็ขี้เกียจ นั่งก็ขี้เกียจ ยืนก็ขี้เกียจ ได้เห็นอะไรก็ขี้เกียจ

ขี้เกียจอะไร...ขี้เกียจรู้ ขี้เกียจมีสติ ขี้เกียจระลึกรู้อยู่ว่ากำลังมีอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้น่ะ  มันขี้เกียจ ขี้เกียจก็เป็นกิเลสตัวนึง มันรักสบาย ... มันรักสบาย สบายตามใจกิเลส สบายแบบลอย ...ลอยไปตามกระแส ...เหมือนใบไม้ปลิวไปตามกระแสลม หรือปลิวไปในกระแสลำธาร

นั่นแหละ มันปล่อยให้ลอยอย่างนั้น ... มันคุ้นเคย มันเคยชิน เป็นอนุสัย ... เราต้องแก้อนุสัยเหล่านี้  อนุสัยก็คือกิเลส กิเลสก็คือความเคยชินนั่นแหละ  มันเป็นอนุสัย มันเป็นสันดาน เป็นขันธสันดาน อยู่ในกมลสันดาน  อาสวะนี่คือขันธสันดาน ฝังอยู่ในขันธสันดานเลย

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาเอาชนะความเคยชินนี้ด้วยสติ...รู้ สมาธิ...ตั้งมั่นอยู่ในที่นั้น ไม่หวั่นไหวไปตามที่มันจะพาให้ไหล พาให้หลงออกนอก”นี้”ไป  “นี้”...นี่ตั้งแต่ใจถึงกายออกไป นี่คือออกนอกนี้ กายนี้ใจนี้

นั่นแหละ แล้วก็ค่อยๆ เก็บออมรอมริบ เก็บเล็กผสมน้อย  สะสมพลังไว้ เป็นพลังใจ เป็นพลังสติ เป็นพลังสมาธิ เป็นพลังปัญญา  เพราะนั้นพลังนั่นคือพลังอันนี้ ไม่ใช่พลังความสงบ ...ไม่เอา  ใครว่านั่งสงบแล้วมีพลัง...ไม่จริง  พลังมันอยู่ที่ สติ สมาธิ ปัญญา 

สมาธิคือตั้งมั่น  ตั้งมั่นในปัจจุบันนี่แหละคือพลัง  เมื่อใดที่กายใจอยู่ด้วยกัน พอดีกัน เสมอต่อเนื่องไป นี่แหละ...จะมีกำลังใจเกิดขึ้นเอง ที่จะทานทนต่อแรงเสียดทาน หรือว่าผัสสะที่เย้ายวน เย้ายวนให้โกรธ เย้ายวนให้หลง เย้ายวนให้รัก เย้ายวนให้ไปสนุกเผลอเพลินกับมัน เนี่ย ความเย้ายวนมันมี

เพราะเวลามันมากระทบนี่โดยผัสสะ มันผ่านเข้ามานี่  มันไม่เข้าถึงใจโดยตรงน่ะ มันมาผ่านห้องนี้(เสียงสัมผัส) มากระทบไอ้อาสวะนี่ก่อน  มันก็เกิดกิเลสเย้ายวนเกิดขึ้นมา เกิดกิเลส เกิดความลุ่มหลง หรือว่ากิเลสจริงจังมัวเมา หรือว่าจะไปมี จะไปเป็นกับมัน

แต่เมื่อใดที่เราเอาไอ้อาสวะตัวนี้ออกหมดแล้วเนี่ย หรือว่าคลี่คลาย หรือว่าน้อยลงจางเบา ปุ๊บนี่ มันจะเข้าถึงใจได้โดยตรง  พอเข้าถึงใจได้โดยตรงมันก็เหมือนกับผ่านช่องว่างอากาศธาตุเข้ามา มันก็ไม่มีอะไรตอบสนองกลับไป มันก็เป็น... แค่นั้นน่ะ

แค่นั้นน่ะ ... สักแต่เห็น สักแต่ได้ยินไป สักแต่ทำไป สักแต่คิดไปแล้วก็จบไป พูดไปจบไป คิดไปจบไป ทำอะไรไป  มีอารมณ์...แม้แต่มันมีอารมณ์ โดยปกติของอารมณ์เกิดตรงไหนมันก็ดับไปตรงนั้น มันก็จบไปตรงนั้น

จะไม่เก็บมาเป็นธุระ ไม่แบกมาเป็นเรื่องราวของเราหรือของเขาอีกต่อไป มันก็เป็นเรื่องราวของเราจริงของเขาจริงในปัจจุบันนั้น แล้วก็จบลงไปในปัจจุบันนั้นตามสมมุติบัญญัติน่ะ

สบาย ... ตรงนั้นน่ะเข้าสู่ความสบายแบบสบายจริงๆ ...อยู่อย่างนั้นนะ ให้นึกดูเอาแล้วกันว่ามันสบายขนาดไหน เห็นอะไรได้ยินอะไร คือไม่แบกกลับบ้านน่ะ

มันเห็นตรงที่ทำงานก็ดับตรงนั้นแล้ว ไม่ใช่กลับมาแล้ว...โห มันยังตามมาถึงบ้านเลยเว้ยเฮ้ย  เนี่ย แบกกลับมาด้วยนะ ใส่กระบุงตะกร้ากลับมา ..โห มันทำกู ..มันว่าให้กู ..เดี๋ยวกูจะทำยังไงกับมึงดี หู้ย มันแบกกลับมาเต็มไปหมดเลย รุงรังๆๆๆ เป็นไอ้บ้าอีเพิ้งแบกฟางอยู่นั่นแหละ

มันจะไม่หนัก มันจะไม่เครียดยังไง มันจะไม่เศร้า มันจะไม่หมอง มันจะไม่อกตรม ทุกข์ตรม ตรอมตรมได้อย่างไร มันจะไม่พิรี้พิไรยังไง มันจะไม่ปริเทวะโทมนัสได้อย่างไร  คือไปแบกอะไรลมๆ แล้งๆ ก็ไม่รู้  ไปแบกหามอะไรก็ไม่รู้ที่มันจับต้องไม่ได้

โง่ทั้งโลก ... รู้ว่าโง่แต่ยังแบกไม่ยอมวาง  วางก็วางไม่เป็น ไม่รู้จะวางยังไง  ไม่ใช่ไม่รู้...ก็รู้  แต่วางไม่เป็น  ที่วางไม่เป็นก็เพราะว่ามันไม่มีสติรู้อยู่ในปัจจุบัน ก็รู้มันตรงนี้ ...ช่างหัวมัน มันอยากอยู่...อยู่ไป  ดูซิมันจะอยู่ได้จริงมั้ย  

แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบันตรงนี้เลยนะ ไอ้ของไม่จริงมันไม่อยู่หรอก บอกให้  อยู่แต่ของจริง ปวดโว้ยๆ นั่นจริง รับรอง อยู่กับมันเหอะ  เพราะงั้นของไหนไม่จริงมันอยู่ได้ไม่นานหรอก

แต่ที่ว่ามันสามารถอยู่ได้ ดำรงได้ หรือว่าตั้งได้  ก็โดยอาศัยอะไรเป็นปัจจัยต่อเนื่องล่ะ...ตัณหากับอุปาทาน  ด้วยความไม่รู้นี่มันก็คือตัณหาความอยากความไม่อยาก ก็ไปหมายมั่นกับมัน จริงจังกับมัน  นั่นแหละมันจึงไปซัพพอร์ทให้มันคาข้องอยู่อย่างนั้นน่ะ

ลองไม่สนใจมันสิ เหมือนกับแกล้งทำหน้าด้านหน้าทนกับมัน  ไม่สนใจอ่ะ กูไม่สนใจมึง กูจะสนใจขากูนี่ ขากูกำลังนั่ง ตัวกูกำลังทำอะไร  ยืนเดินนั่งนอน ลองสนใจความจริงเป็นปัจจุบันตรงนี้สิ ...ของไม่จริงอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวเห็นเอง

แต่เดี๋ยวมันก็จะอดแว้บไปๆ แน่ะ สันดาน  มันยังมีความเคยชินเดิมไง ..เดี๋ยวพรุ่งนี้มันว่าเราต่อทำไงล่ะ แน่ะ มันเริ่มคิดต่อ ..เดี๋ยวเราจะเตรียมตัวรับคำพูดมันยังไงดี เตรียมก่อน เดี๋ยวหัวหน้าเขาว่ายังโง้นยังงี้ เราจะทำยังไง มันเริ่มอีกแล้ว มันเริ่มโปรเจ็คมาอีกแล้ว ...ก็ไม่เอามัน

กลับมาเอาอย่างนี้...เอาโปรเจ็คที่เป็น ‘now and then’ น่ะ เดี๋ยวนี้ขณะนี้ๆ จำไว้เลย  นั่นแหละ เดี๋ยวจะเห็นเองว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง  ก็จะเห็นธรรมตามความเป็นจริง มีแค่นี้

และก็มีอยู่แค่นี้คือเดี๋ยวนี้  ไอ้เดี๋ยวนี้ก็แป๊บนึงเอง อยู่ไม่นานหรอกไอ้กายนี้  เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็เปลี่ยนๆ อยู่อย่างนั้น  เดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็ไหว  เห็นมั้ย นิ่งดับ ขยับเกิด... ขยับเกิด นิ่งดับ  เอ้า ก็สลับไปสลับมา  เห็นมั้ย แม้แต่ปัจจุบันมันยังจริงจังไม่ได้เลย  เพราะนั้นเมื่อรู้ปัจจุบันเห็นปัจจุบันจนชัดเจนดีแล้ว ต่อไปมันวางปัจจุบันต่อไป  มันไม่ใช่ยึดปัจจุบันอีกนะ

แต่ตอนแรกต้องมายึดมารู้กับปัจจุบันก่อน เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบัน มันชอบไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  ก็เลย...ศีล สมาธิ ปัญญาเบื้องต้นคือ ต้องให้มายึด มาถือ มารู้ มาเห็นกับปัจจุบัน  แล้วเมื่อรู้เห็นปัจจุบันต่อเนื่องไปแล้วจะเห็นว่า โอ้ย ปัจจุบันมันก็ไม่เห็นมีอะไรนี่หว่า ไม่ได้เป็นเราของเราเลย  เกิดขึ้นแค่นิดเดียว แป๊บเดียว ขณะเดียวแล้วก็หายไป  ตัวตนที่แท้จริงก็คือไม่มีตัวตน นั่นน่ะ

ไม่ใช่ไปคอยไปทำลายตัวตนนะ ... ตัวตนน่ะมี แต่มันมีชั่วคราว  แล้วไอ้ตัวตนที่มีน่ะมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา  คือจะได้ให้เห็นว่า ไม่เข้าไปหลงตัวตน  แต่ไม่ใช่เข้าไปทำลายตัวตน  รู้ว่ามีตัวตน แต่ว่าตัวตนนี้ไม่ใช่เรา  เนี่ย เขาเรียกว่าไม่เข้าไปหลงตัวตน ไม่หลงตัวหลงตน ไม่ยึดหน้าถือตา ไม่ยึดตัวถือตน

เนี่ย เขาเรียกว่าไม่ใช่ให้ไปทำลายตัวตน  ทำลายไม่ได้หรอกตัวตน มันก็มี  ถ้าไม่มีตัวตนมันก็ตายไปแล้ว  ตาก็ไม่มี หูก็ไม่มี จมูกก็ไม่มี กายก็ไม่มี ตัวตนทั้งนั้นน่ะ ไอ้สิ่งที่มันตั้งๆๆ อยู่นี่คือตัวตนหมดแหละ  แต่มันเป็นตัวตนที่มีตามปกติธรรมดา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เนี่ย คือธรรม

เมื่อต่อไปเราเข้าใจตัวตนของเรา ของตัวนี้ดีแล้ว ของขันธ์ ๕ ดีแล้ว  มันจะเข้าใจตัวตนทั้งหมดที่ปรากฏในสรรพสิ่ง...ว่าสาระของมันที่แท้จริงหรือว่าเนื้อธรรมของมันที่แท้จริงคืออะไร คือเป็นเนื้อธรรมเดียวๆ  แต่ว่า...ดูเหตุปัจจัยที่รวมตัวก่อตัวขึ้นอาจจะแตกต่างกัน แต่ว่าเป็นเนื้อธรรมเดียวกัน

คือเป็นกลาง เป็นธรรมดา ไม่มีสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่มีเจตนาดีไม่มีเจตนาร้ายในสิ่งนั้น  คือจะเห็นเป็นธรรมเดียวกันอย่างนี้  ก็เหมือนกับเกลือที่มีรสชาติเดียวคือเค็ม ไม่ว่าจะอยู่ในน้ำ อยู่ในอาหารอยู่ในแกงก็เค็ม ก็คือเกลือ ยังไงลิ้นก็ว่านี่เกลือ ก็จะเป็นธรรมเดียวกันหมด

นั่นแหละ ไม่ได้ไปติดแค่ไอ้ที่เป็นเปลือก ว่าอันนี้สีดำ อันนี้สีขาว อันนี้กุศล อันนี้อกุศล เข้าใจมั้ย  มันจะไปติดตอนที่สมมุติหรือบัญญัติหรือทิฏฐิ นั่นน่ะ มันก็จะเป็นตัวที่เป็นเปลือกมาปิดบังธรรม  แต่ถ้าชำแรกลงไปถึงธรรมก็คือเกลือ ก็คือเค็มๆ มีความเค็มอยู่ในทุกสรรพสิ่ง นั่นอันเดียวกัน เป็นธรรมเดียวกัน

แต่ว่าไอ้ที่ห่อหุ้มมันน่ะอาจจะไม่เหมือนกัน  กายคนก็หน้าตาไม่เหมือนกัน ชายหญิงก็ดูไม่เหมือนกันถ้าดูโดยสภาพ  แต่ในความเป็นจริงน่ะมันไม่มีความเป็นชายเป็นหญิง  มันเป็นธรรม คือเป็นสักแต่ว่ากายที่เป็นแค่เย็นร้อนอ่อนแข็ง ยืนเดินนั่งนอน ขยับ นิ่ง ไหว แค่นั้นเอง มันก็จะเป็นธรรมแค่สักแต่ว่าธรรมหนึ่ง ...สักแต่ว่าธรรมหนึ่งเท่านั้นเอง

นั่นแหละ หยั่งลงไปจนถึงเนื้อธรรม หยั่งลงไปถึงธรรมแท้ ที่มันมีอยู่ เดี๋ยวนี้ก็มีอยู่  แต่ว่าเราอยู่กับธรรมไม่แท้เพราะว่ามิจฉาทิฏฐิมันปิด แล้วสมมุติบัญญัติมันบัง คือความเห็นต่างๆ นานาน่ะมันบัง

บางทีนะ ตำรับตำรายังมาบังอีกด้วยซ้ำ มาบังธรรม  หรือเรียกว่าสมมุติบังปรมัตถ์ โลกบังธรรม ความเห็นบังความเป็นจริง  เห็นมั้ย นิดเดียว...ถ้าพลิก เข้าใจมั้ย  พอจิตมันพลิกกลับๆ บ่อยๆ พลิกกลับบ่อยๆ ว่ารู้เท่านี้ ตรงนี้  มันจะเข้าถึงต้นธาตุต้นธรรมมากขึ้น...ต้นแรกของการรับรู้น่ะ

เพราะนั้นเมื่อใดที่เราเห็น ขณะแรกที่เห็นปั๊บ พั้บนี่ ขณะแรกนั่นน่ะ...ที่รู้เห็นนั่นน่ะ  แค่นั้นแหละ...มันเป็นความจริงแค่นั้นจริงๆ  นอกนั้นน่ะ ผิดตลอดสายเลย  เพราะมันจะมีความเห็น ความเชื่อ ความจำ พวกนี้มาแล้วเป็นพรวนเลยนะนั่นน่ะ

แต่ขณะแรกนี่...ที่สติสมาธิปัญญามันไม่ทันขณะแรกของการเกิด มันจึงไม่ทันขณะดับของการเกิดแรก  เพราะนั้น เมื่อไม่เห็นฐีติจิตด้วยฐีติจิตแล้วไม่เข้าไปเห็นธรรมที่เป็นธรรมแรกที่ปรากฏคือฐีติธรรม จะไม่เห็นความดับไปในที่เดียวกัน เรียกว่าเกิดดับในที่เดียวกัน

สติมันจะกำชับ บอกแล้ว  ถ้ามันกำชับ กำชับพื้นที่เข้ามาๆ รวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว แล้วเท่าทันอยู่ในปัจจุบันบ่อยๆ นี่  มันจะเข้าไปถึงต้นธาตุต้นธรรมต้นจิต  เมื่อถึงตรงนั้นนี่ พั้บ ทันทีเลย ปัญญามันจะทันทีเลยตรงนั้น ดับตรงนั้นทันที ...ดับความสืบเนื่องของขันธ์

คำว่าสืบเนื่องของขันธ์นี่คือ...ขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์นะ ... จะไม่สืบเนื่องในอุปาทานขันธ์ต่อเลย  เหลือแต่ขันธ์สักแต่ว่าขันธ์ รูปสักแต่ว่ารูป นามสักแต่ว่านาม...จะเหลือเท่านั้น  แต่จะไม่มีไอ้ตัวที่เป็นอุปาทานขันธ์ยืดออกมา

เรียนรู้ไปเรื่อยๆ  เมื่อจิตอยู่กับปัจจุบันจริงๆ ทันปัจจุบันจริงๆ พอดีกับปัจจุบันจริงๆ แล้วเนี่ย  จะชัดเจนว่าอะไรจริง...อะไรเท็จ ... อันไหนเท็จนี่ดับหมด อยู่ไม่ได้เลย ไม่สามารถตั้งอยู่ได้เลย  

แล้วมันจะเป็นธรรมชาติของมันเองเลย ไม่มีธรรมใดที่นอกเหนือจากธรรมแท้ตั้งได้เลย  หลุดหมด มันหลุดร่วงหลอยหายไปเลยอ่ะ เกลี้ยง  คือมันไม่สามารถจะหยั่งลงได้เลย เกิดต่อเนื่องปุ๊บ หลุด  พอเกิดขึ้นปั๊บมันหลุดร่วงหายไปเลย

เพราะมันไม่จริง ... สิ่งที่ไม่จริงมันไม่มีการตั้งได้เลย  เหลือแต่ความจริงอยู่นี่ เนี่ย เท่าที่ตาเห็น เท่าที่หูได้ยิน เท่านี้เอง  และไม่มีเกินนี้  จากนี้ตั้งไม่ได้  เนี่ย เขาเรียกว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว ชำระจิตจนขาวรอบดีแล้ว  มันจะเข้าสู่ความถึง...ถึงใจที่บริสุทธิ์

ไม่มีเยื่อใย ... ไม่มีเยื่อใยกับโลก  ไอ้เยื่อใยกับโลกนี่ไปหาดูก็แล้วกันว่ามันเป็นเยื่อใยตรงไหน ทำไมถึงมีเยื่อใย  ไอ้เยื่อใยนั่นแหละอุปาทานขันธ์ ไอ้เยื่อใยนั่นแหละอุปาทานทุกข์ ไอ้เยื่อใยนั่นแหละขันธ์ปลอม ไอ้เยื่อใยนั่นแหละขันธ์หลอก

เพราะนั้น ระหว่างที่เรียนรู้อยู่กับปัจจุบันบ่อยๆ  จะเห็นขันธ์ ๕ นี่เกิดดับๆๆๆ อยู่ตลอด ... ขันธ์ ๕ ที่ว่านี่คืออุปาทานขันธ์ ๕ เกิดดับนะ  ขันธ์ ๕ ก็ยังอยู่  แต่ขันธ์ ๕ ที่ดับเป็นอุปาทานขันธ์ไม่จริงน่ะ...คือแค่เรานึกว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรนี่ ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ขันธ์ ๕ ในอนาคตนะเกิดแล้ว ตัวเราในอนาคตเกิดแล้ว

เห็นมั้ย มันเป็นขันธ์ซ้อนขันธ์ใช่ไหม ... ขันธ์จริงอยู่นี่ กำลังนั่งอยู่นี่  แต่แค่นึกไปปุ๊บนี่...มันไม่ใช่แค่ความคิดนะ ในความคิดนั่นมีขันธ์ ๕ ครบเลยนะ มีความรู้สึก เวทนา มีความเป็นเรา ตัวเรา เป็นชายเป็นหญิงครบเลยนะ...ในแค่ความคิดว่ากำลังจะทำอะไรนี่ ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว แต่เป็นขันธ์ ๕ ที่ไม่จริง เป็นขันธ์ ๕ หลอก

แต่เรา...ด้วยความไม่รู้นี่ มันจริงจังเหลือเกิน ... แล้วมันไม่ใช่ขันธ์ ๕ เราขันธ์ ๕ เดียว  ขันธ์ ๕ เขาด้วย คนนั้นคนนี้ด้วย สัตว์ บุคคลด้วย  ไม่ว่าเป็นสัตว์ ไม่ว่าเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นวัตถุข้าวของ ...มันจริงหมด  มันกลายเป็นของทึบไปเลยน่ะ เป็นของทึบซะอย่างนั้นเลย คือของที่เที่ยงน่ะ

แต่เมื่อเข้าใจแล้ว เท่าทันแล้ว ... ละบ่อยๆ ละบ่อยๆ  ละความคิดบ่อยๆ ละความเห็นนั้นบ่อยๆ  ละอดีตบ่อยๆ ละอนาคตบ่อยๆ ... จะเห็นมันเป็นของกลวงๆ  เป็นเหมือนเราเห็นมิราจน่ะ เหมือนเราเห็นพยับแดดน่ะ พยับแดดน่ะ วิบวับๆ...จับต้องไม่ได้  เหมือนเห็นน้ำนองในถนนที่หน้าร้อนตอนเที่ยงวัน วิ่งไปเท่าไหร่ก็ไม่ถึง  มันก็รู้เองน่ะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แต่เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นอย่างนั้น ไม่เชื่ออย่างนั้น ... มันจริงเลยนะ นึกภาพใครขึ้นมานี่ หงุดหงิดว่ะ แค่เห็นหน้ามันในความคิดนะ หงุดหงิดๆ กูหงุดหงิดว่ะ  ทำไมถึงหงุดหงิดกับมิราจล่ะ ใช่มั้ย มันหงุดหงิดได้ยังไง นั่นน่ะโง่

มันคิดว่ามีขันธ์ ๕ นั้นเกิดขึ้นเลยน่ะ ขันธ์ ๕ นั้นจริงเลยอ่ะ  แล้วก็มีตัวรองรับขันธ์ ๕ ของเขาด้วย เออ มันเป็นซะยังงั้นน่ะ  แล้วก็ยังไปค้นหาความเป็นจริงในนั้นอีกนะ ..จะทำยังไงดี จะแก้ยังไงดี

จะไปเยิ่นเย้อยืดเยื้อกับมันทำมั้ย  มันไม่มีสาระ ไม่มีสาระใดๆ ทั้งสิ้น ... สาระอยู่ตรงนี้ อื้อ..(เสียงสัมผัสของสองสิ่ง) ..เจ็บมั้ย  ..รู้สึกมั้ย  เนี่ย จริง ๆ ของจริงอยู่ตรงเนี้ย  ทำไมไม่อยู่กับความจริง ทำไมไม่อยู่กับสิ่งที่ปรากฏจริง ทำไมไม่อยู่กับโลกตามความเป็นจริง ทำไมไม่อยู่กับขันธ์ตามความเป็นจริง

เนี่ย มันจะหยั่งลงๆ ในขันธ์จริง ขันธ์ปัจจุบันนี้เสมอ  เรียกว่าอยู่ในวัด รักษาวัด ... อย่าไปทำความสะอาดวัดคนอื่น เดี๋ยวโดนตบ เดี๋ยวเจ็บตัว หาเรื่องเจ็บตัว  มันจะเจ็บ มันจะทุกข์ มันจะทุรนทุราย เพราะไม่รู้จักขอบเขตของตัวเอง

ต้องมาเข้าใจแล้วก็รักษาทำนุบำรุงวัดเจ้าของไว้ให้เรี่ยมเร้เรไรเลย  ขันธ์ก็จะไม่รกรุงรัง คือไม่มีหยากไย่ใยแมงมุม ขันธ์ก็บริสุทธิ์ ... เห็นมั้ย ขันธ์ ๕ นี่บริสุทธิ์อยู่แล้ว แต่มันรุงรัง  มันรุงรังเพราะอะไร เพราะเยื่อใย  เยื่อใยที่ไปหาขึ้น ไปสะสม ไปพอกพูนขึ้นมาเองทั้งนั้นน่ะ มันก็เลยปิดบังขันธ์ความเป็นจริงจนเศร้าหมองขุ่นมัวไปโดยปริยาย

แต่พอเราชำระขัดเกลาเสมอ ให้มันผ่องใสสะอาด  อะไรสกปรกรุงรังไม่เอา เอาออกซะบ้าง  อย่าเสียดาย อย่าบ้าสมบัติ อย่าเป็นไอ้บ้าแบกหาม ไอ้บ้าหวงของอะไรอย่างนี้  ละออก ขัดออก ขัดถูออก ไม่เอา เอาเท่าที่มันอยู่ตรงนี้ น่ะ จะเข้าถึงขันธ์บริสุทธิ์โดยลำดับเอง

ทำไมพระอรหันต์ขันธ์ถึงบริสุทธิ์  ทำไมเผาแล้วกลายเป็นพระธาตุซะอย่างนั้น ก็ขันธ์ท่านบริสุทธิ์น่ะ ... ไอ้พวกเราก็บริสุทธิ์ แต่มันไม่อยู่ในขันธ์บริสุทธิ์  มันไปอยู่กับขันธ์ที่ไม่บริสุทธิ์ มันรุงรังๆ ไปหมดเลย ...เผามากระดูกดำปี๋ มันไม่มีทางเป็นแก้วเป็นเพชรได้เลย

แต่ว่าพระอริยะท่านอยู่กับขันธ์บริสุทธิ์ ไอ้สิ่งรุงรังไม่มี ...ไม่ใช่ท่านตั้งใจชำระหรือว่าทำให้มันบริสุทธิ์นะ  มันบริสุทธิ์อยู่แล้ว ... มันบริสุทธิ์อยู่แล้วและท่านเข้าถึงอยู่กับความบริสุทธิ์นั้นโดยธรรมชาติ มันก็ไม่ต้องไปทำ ไม่ต้องไปแก้เลย ... แต่ว่าสิ่งที่ท่านทำ ท่านแก้...คือเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์นั้นออกไป 

คือความคิดความเห็นต่างๆ นานาที่มีต่อขันธ์ ...ขันธ์นี่เรารวมหมดทั้ง ๕ ตัวเลยนะ ไม่จำเพาะกายอย่างเดียวนะ ไม่เฉพาะที่ รูปนามนี่ ...ทั้งหมดเลย  ... เพราะนั้นท่านก็อยู่กับขันธ์บริสุทธิ์ รูปนามท่านก็บริสุทธิ์ ความคิด ความปรุง ความแต่ง อารมณ์ เวทนาความรู้สึกท่านก็มี แต่ท่านมีด้วยความเป็นบริสุทธิ์ล้วนๆ โดยธรรมของมัน โดยแท้ๆ

เพราะนั้นท่านจึงเป็นธรรมแท้ อยู่กับธรรมแท้ เหมือนกับทองแท้น่ะ ทองบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าใจมั้ย ไอ้พวกเรานี่มันทองแบบหนึ่งเปอร์เซ็นต์มั้ง หรือไม่ถึง นอกนั้นน่ะเป็นตะกั่ว อย่างเนี้ย ... แต่ท่านน่ะทองแท้ อยู่กับทองแท้คือขันธ์แท้ๆ เลย เป็นบริสุทธิ์ล้วนๆ นั่น

และภายในก็ใจบริสุทธิ์ล้วนๆ คือเป็นใจเปล่าๆ  เป็นใจรู้เปล่าๆ จริงๆ  ไม่มีอะไรมาเคลือบงำ ครอบงำใจ  อาสวะครอบงำใจไม่มี  ใจก็เป็นธาตุรู้อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผ่องใส  เพราะนั้นธาตุรู้นี่เป็นธาตุที่ผ่องใสโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ...ก็ไม่ใช่ว่าทำขึ้นมาใหม่นะ แต่ท่านเอาของที่มันเจือปนออกเท่านั้นเอง ของที่มันปิดบังครอบงำออก

เพราะนั้นวิถีที่จะเข้าไปสู่ความบริสุทธิ์ของขันธ์ ความบริสุทธิ์ของใจนี่ ก็คือสติ ศีล สมาธิ ปัญญา  เอาแค่สี่ตัวนี้ เอาให้ชัดเจน  ทำอยู่ วนเวียนอยู่ ซ้ำซากอยู่แค่นี้แหละ  ใครว่าอย่างโน้นใครว่ายังไง ไม่ต้องสนน่ะ วิธีการนั้นวิธีการนี้..ไม่เอาน่ะ

เอาแค่สติระลึกอยู่กับกายที่เป็นปกติธรรมดา แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ...ที่รู้ที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้เท่านั้นน่ะ  เอาแค่นี้แหละ เอาให้มันจริงแค่นั้นเอง สิ่งที่ไม่จริงมันก็จะออกไปเอง ... ก็จะเห็นว่า อ้อ นี่ไม่จริง อันไหนจริงก็คงอยู่

เวลานั่งสมาธินานๆ น่ะ เขาแสดงความเป็นจริงแท้ๆ เลย...แต่หนีกันจัง  ปวดโว้ยๆ นี่พอดีมั้ย  แต่มันจะแสดงความไม่จริงอยู่เรื่อย ทำยังไงจะหายปวดวะ ทำยังไงวะ ขามันจะหลุดรึเปล่าวะ ขามันจะพิการรึเปล่าวะ เนี่ย มันจะแสดงความไม่จริงอยู่เรื่อยน่ะ

แต่ความเป็นจริงเขาก็ทนโท่อยู่นั่น...กูจะปวดมีอะไรมั้ย ก็มึงประกอบเหตุปัจจัยแห่งการปวดขึ้น กูก็ปวด มีรึเปล่าล่ะที่จะไม่ปวด ... ธรรมดา...ถือว่าเป็นธรรมดา ... แต่เราอยู่กับความธรรมดานี้ไม่ได้ จะไปหาความไม่ธรรมดาซึ่งไม่จริงแน่ะ

เห็นมั้ย จิตมันก็จะปรุงไปล้านแปดเรื่องแล้ว หาวิธี พล้อบแพล้บๆ ส่ายแส่ไปหมดเลย  สร้างโมเดลนั้น โมเดลนี้...ขันธ์ ๕ นะ สร้างโมเดลของขันธ์ ๕ ว่า... 'ถ้าเราเอาขาออก' มันก็นึกภาพไปว่าขาออกปุ๊บนี่...ไอ้เวทนานี่หาย  เห็นมั้ย ขันธ์ ๕ เกิดก่อนเลย...ขันธ์หลอก

ขันธ์จริงอยู่เนี่ย...ไม่สน ไม่รู้ไม่ชี้ๆ  เห็นมั้ย ขันธ์จริงไม่รู้ไม่ชี้กับใครเลยนะ ไม่ขึ้นกับอำนาจของใครเลยนะ กูไม่รู้ไม่ชี้ๆ ไม่มีความเป็นสัตว์ ไม่มีความเป็นบุคคล ...มึงทำอย่างนี้ มึงตั้งอยู่อย่างนี้ กูก็แสดงอาการอย่างนี้ กูไม่สนใจใครทั้งสิ้น ไม่สนใจฟ้าดินอินทร์พรหมทั้งสิ้น

แต่ไอ้โมเดลนี่เยอะแยะเลย อื้อหือ เนี่ย เขาเรียกว่าฉลาดเฉลียวเหลือเกิน อุบายเยอะเหลือเกิน จะวิธีนั้นดีมั้ย มันก็เทียบกับวันนั้น วันนี้ วันโน้น เคยทำยังงั้น เคยทำยังงี้ แล้วมันเป็นอย่างนั้น แล้วมันได้อย่างนี้ ... ไร้สาระ บอกให้เลย ไม่เอา

หน้าด้าน รู้แบบหน้าด้านๆ น่ะ...ไม่แก้ไม่หนี ไม่แก้ไม่หนี  ปวดมากก็รู้ว่าปวดมาก ปวดน้อยก็รู้ว่าปวดน้อย อยากก็รู้ว่าอยาก ไม่อยากก็รู้ว่าไม่อยาก เอาดิ อยู่แค่นี้ อดทน...จนถึงที่สุด แค่นั้นน่ะ เอาออกก็เอาออก จบ ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ไม่ได้ จบ

แต่ทนไปก่อน ทน นั่งสมาธิชั้นเดียวไม่พอ เอามันสองชั้นเลย นั่น สมาธิเพชร หลวงปู่น่ะ  มันอยากปวดใช่มั้ย กูนั่งสองชั้นเลย มีอะไรมั้ย ... ตายแน่ๆๆ ความคิดมาแล้ว เห็นมั้ย ความคิดมันมาก่อนเลยนะ ขันธ์ ๕ มันสร้างหลอกไว้เลยว่า กูทนไม่ได้แน่ๆ เลย นี่ยังไม่ได้ทำเลยนะ


โยม   ยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้ลองเลย

พระอาจารย์ –  มันเป็นอย่างนั้น ใจมันแว้บไปเลย ... แล้วมีจริงด้วยนะ ตัวนั้นมีจริงด้วยนะ เห็นมั้ย ดูดีๆ พอมันดับไป เห็นความดับไปของมันบ่อยๆ จะเห็นว่าตัวนั้นไม่จริง  ตัวจริงก็ยังอยู่นี่ ขยับไปขยับมาอยู่นี่ ไม่ว่าอะไรสักคำ

ไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีความเห็นใดๆ ออกมา  ตัวของมันเอง..โน คอมเมนท์  ถามอะไรไปดิ...โน คอมเมนท์ ใช่มั้ย มันไม่มีพูดเลยนะ...โน คอมเมนท์   ก็มีแต่ไอ้บ้ายายเพิ้งบ้าคนเดียวพูดอยู่นั่น อยู่ข้างใน ...จิตปรุงแต่ง อย่าไปเชื่อมัน

อย่าไปเชื่อมัน รู้จักปฏิวัติซะมั่ง ปลดแอก เข้าใจคำว่าปลดแอกมั้ย  ไม่งั้นก็เป็นทาส มีแต่เป็นทาสมันน่ะ เป็นทาสของสังขารธรรม เป็นทาสของจิตตสังขาร เป็นทาสของผัสสะ  อยู่กับมันแบบไม่เป็นอิสระ เพราะเป็นทาสมาตั้งแต่เกิด  แล้วยังยินยอมที่จะเป็นทาสจนตายหรือไง

พระพุทธเจ้านี่มาเพื่อปลดปล่อยสู่ความเป็นอิสระ เป็นผู้ปลดแอก เป็นผู้ปฏิวัติ...ออกจากแอก คือโลก คือขันธ์ ๕ ... แต่เราก็จะยอมเป็นทาส ตกเป็นเบี้ยล่างมันอยู่เสมอ ไม่แข็งขืน  

ธรรมดานักปฏิวัติน่ะยังไงก็ตาย แรกก็ตาย  เพราะว่ารัฐบาลมันปกครองด้วยความเป็นทรราช เข้าใจมั้ย  ผู้ปฏิวัติเบื้องต้นน่ะ ตายเล็กตายน้อย ตายประจำน่ะ  เจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน ฝืน กล้ำกลืน อดทน ไม่ได้ดั่งใจ เป็นธรรมดา...ก็นักปฏิวัติมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ  

แต่เมื่อใดปฏิวัติสำเร็จแล้ว ก็ปลดแอกได้  ปลดปล่อยคืนสู่ความเป็นเอกภาพ เอกธรรม เอกจิต  เป็นเอกในจักรวาลแล้ว หมดแล้ว ไม่มีทางที่อะไรจะมาครอบงำหรือมาใส่แอก ... เหมือนควายที่เขาพาไปไถนามันโดนใส่แอกน่ะ ไม่เป็นแล้ว ไม่ต้องมาไถนาให้ใคร แม้กระทั่งของตัวเองหรือว่าของคนอื่น 

ตอนนี้พวกเรามีชีวิตเพื่อตัวเอง กับเพื่อคนอื่น  นั่นแหละ เหมือนติดแอกอยู่น่ะ  ไอ้นั่นก็ต้องได้ ไอ้นี่ก็ต้องได้ ไอ้นั่นก็เดี๋ยวมีปัญหา ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ... เห็นมั้ย มันเป็นภาระที่ไม่ใช่ภาระจริงๆ แต่ไม่ยอมวางภาระ

อย่าไปติดมัน อย่าไปเสียดายมัน อย่าไปเกรงใจมัน  รู้จักคำว่าเกรงใจมั้ย  ..แหม มันเกรงใจอ่ะเกรงใจเพื่อน เกรงใจคนเคยรู้จักกัน  ถ้าไม่คุยกันนี่เกรงใจน่ะ เดี๋ยวเขาเสียน้ำใจนะ ...กำลังนั่งสมาธิ กำลังเจริญสติ สมาธิตั้งมั่นอยู่ดีๆ  พอเขาเดินมาก็เกรงใจถ้าไม่คุยไม่ทัก ปล่อยให้จิตมันไหลไปนิดนึง...เกรงใจ แน่ะ  หรือว่าเขาพูด เขาชวนคุย แล้วเราจะถามคำตอบคำก็เกรงใจเขา เดี๋ยวเขารู้สึกไม่ดี ...เกรงใจ 

ช่างเกรงใจขันธมาร แต่ไม่เกรงใจพระพุทธเจ้าเลย ฮึ ไม่เกรงใจพระพุทธเจ้า ไม่เกรงใจพระธรรมเลย ไม่เกรงใจธรรมอันบริสุทธิ์เลย  ไม่เกรงใจความจริง...ที่กำลังเป็นงานอันประเสริฐเลย 

แต่กลับไปเกรงใจกิเลสมาร ความอยากความไม่อยากของคนอื่น  ไปเกรงใจความหลงผิด ความเป็นอวิชชาตัณหาของสัตว์บุคคลอื่น  ทำไมเกรงใจจัง หือ  ความบริสุทธิ์ของพุทธะพุทโธนี่ไม่เกรงใจเลย ...ทิ้งเอาหน้าดื้อๆ เหมือนของไม่มีค่าเลยนะ

ใจนี่มีค่าเกินกว่าสามโลกธาตุที่เขาว่ามีประโยชน์สูงยิ่งน่ะ ใจนี่มีค่ามากกว่าสามโลกนี่มาทูนกันอีกน่ะ ... แต่ทำไมล่ะ นักปฏิบัตินักภาวนาทิ้งขว้างแบบ...เหมือนน้ำลายน่ะ บ้วนทิ้งเลย  พอเห็นโลกมา เห็นคนมา...เกรงใจ ต้องทิ้งไว้ก่อน แสดงตัวตนงี่ๆ เง่าๆ ก่อน เออ

กลัวทำไม ... จะไปกลัวอะไรกับลมปากคนอื่น ไปกลัวอะไรกับอากัปกิริยาที่วูบวาบๆ ของคนอื่นที่เขาแสดงอาการ กลัวทำไม  กลัวความไม่จริงเหรอ กลัวอวิชชาเขาจะเสียใจดีใจรึไง  ทำไมไม่กลัวพระพุทธเจ้าด่ามั่ง ทำไมไม่กลัวพระธรรม ทำไมไม่กลัวความจริง...ที่เราจะเข้าไม่ถึงความจริงมั่งล่ะ

มันต้องปฏิวัติความเคยชินด้วยสมมุติ ด้วยประเพณี ด้วยจารีตนิยม  อยู่ในโลกนี่มันติดจารีตนิยม มารยาท อะไรบ้าๆ บอๆ อย่างโง้นอย่างงี้ อย่างงั้นอย่างงู้น  โดยเฉพาะผู้หญิงนี่...เยอะ ไอ้นั่นนิดไอ้นี่หน่อยก็ไม่ได้ ไอ้นั่นผิดหูผิดตานิด จ๊อบแจ๊บๆ มันกัดไปหมดน่ะ

ใจมันไปกัด...ไม่ปล่อยด้วย  ...เหมือนหมางับกระดูก กระดูกก็คือกระดูก ไม่อิ่มไม่ออกหรอก แต่กูงับซะงั้นน่ะ  จิตมันชอบแลบไป แล้วไม่คายด้วยนะ  กลับบ้านเนี่ย เดินคาบกระดูกไม่รู้กี่ท่อนน่ะกลับบ้าน แทะจนฟันบิ่นน่ะ ...ก็ไม่เข็ดก็ไม่หลาบ ก็ไม่กำชับ ก็ไม่ละ

ต้องสูญเสียอิสรภาพในทางโลกซะ ถูกล่วงล้ำก้ำเกินซะ ... ให้...ด้วยอภัย ด้วยเมตตาธรรม พวกเนี้ย มันจะเกิดขึ้นเองต่อไป  ปล่อยวาง...แล้วก็เกิดเมตตาเข้ามาแทนที่ ให้อภัยแทนความโกรธ แทนความที่จะไปอะไรเขา หรือว่าจะไปอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยการให้อภัย ...จาโคไปซะ

จาโคในส่วนที่เราคิดว่าจะทำอะไร อยากได้อะไร ... รู้จักสละออก ให้มันเหลือแค่ใจดวงเดียวเท่านั้น อยู่กับใจดวงเดียว รู้อย่างเดียว นอกนั้นไม่เอา...ไร้สาระ  

จำไว้เลยมันไร้สาระ ไม่ใช่ทางแห่งมรรคผลนิพพาน ... แล้วไม่มีทางเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ด้วยภาระอันนั้น ที่ไปคิดอย่างนั้น ที่ไปหาเรื่องอย่างนั้น  มันเป็นโซ่ มันเป็นบ่วงที่ฉุดที่รั้ง ไม่ให้กลับมาสู่ความเป็นอิสระของกายใจ

เพราะนั้นอย่าเอาไว้ ... ทิ้งได้ทิ้ง ปล่อยได้ปล่อย ละได้ละ วางได้วาง  กลับมารู้อยู่เท่านี้ พอแล้ว รู้แค่นี้พอแล้ว  ใครจะมาชักชวนให้รู้ไปจากนี้ เกินนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา เข้าลูกกระตาทะลุกะโหลกไปเลย ...อย่าเก็บไว้

รู้แค่นี้พอแล้ว ... อย่าไปนั่งรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย  หาเรื่องมารู้ มาประเทืองปัญญาหรือประเทืองความโง่ก็ไม่รู้ ... รู้แค่นี้พอแล้ว ปัญญาเกิดในตัวของมันเองแล้ว  รู้แค่ว่าอะไรคือนั่ง นั่งคืออะไร รู้แค่นี้ จบ...มีทางจบ ถึงที่จบ ใครนั่งวะ มันคือใคร มึงคือใคร มึงเป็นกูรึเปล่า กูเป็นมึงรึเปล่า รู้เข้าไป รู้แค่นี้พอแล้ว เรื่องคนอื่นไม่สน เรื่องอดีตอนาคตไม่เอา

นี่คือเป้าหมายของพระพุทธเจ้า นี่คือวิถีแห่งพุทธะ นี่คือพุทธธรรมที่จะน้อมนำเข้าไปสู่ความจบสิ้น ความไม่กลับมาอีก ความไม่หวนคืน ความหมดไป ความสิ้นไป ความดับไปโดยสิ้นเชิง  นั่น ก็ต้องเริ่มจากตรงนี้เดี๋ยวนี้ แล้วมันก็จะสั้นๆๆ มีชีวิตสั้นลง...สั้นลง...เหลือแค่ขณะเดียว ไม่มีชีวิตเกินนั้นน่ะ

พอเหลือชีวิตสั้นลงเหลือแค่ขณะเดียว ต่อไปก็มีชีวิตเหนือกาลเวลา ... ไม่มีเวลาแล้ว ไม่ขึ้นกับเวลาแล้ว  ไม่มีช้าไม่มีเร็ว ไม่มีหน้าไม่มีหลัง ไม่มีได้ไม่มีเสีย  นั่นแหละ อกาลิโก  ก็จะเข้าถึงอกาลิกธรรม อกาลิกจิต

ลึกซึ้งมาก ธรรมที่เข้าไปด้วยความหยั่งรู้ลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ในปัจจุบันนี่ จะเข้าไปสู่ความมหัศจรรย์ของธรรมที่เรามองข้าม...โดยที่ว่าดูเหมือนธรรมดาไม่มีอะไรนี่แหละ  แล้วเรากลับไปวิ่งหาอะไรที่คิดว่าไม่ธรรมดานั่นแหละ 

แต่แค่หยั่งดูในธรรมดาปกตินี่ จะเห็นความมหัศจรรย์ของกาย ความมหัศจรรย์ของธรรมที่เป็นกาย...ที่เรียกว่ากาย  จะเห็นความมหัศจรรย์ของใจที่รู้อยู่เห็นอยู่เฉยๆ นี่แหละ  แล้วจะโห อู้หู เลย น้ำหูน้ำตาแทบจะหลั่งไหลออกมาด้วยความที่ว่าไม่น่าเชื่อเลยว่า...นี่หรือ อยู่ตรงนี้เองหรือ แทบก้มกราบผืนดินเลยแหละ

นั่นแหละ กราบธรรมเลยล่ะ กราบพุทธะเลยล่ะ  โอ้โฮ ใครจะมาจำแนกธรรมได้อย่างนี้บ้าง ด้วยหัวของมนุษย์ สมองของมนุษย์  ไม่มีทางเลย ที่จะเข้ามาจำแนกธรรม จนถึงที่สุดของธรรมได้  จนถึงเป็นธรรมแท้ ธรรมเดียว ธรรมเอกนี้ได้

ลำพังคิดจนหัวแทบแตก ต่อให้เป็นด๊อกเตอร์มหาด๊อกเตอร์ ไม่มีทางเลยที่จะหยั่งลงไปในธรรมนี้  พอหยั่งเข้าไปมันจะเห็นความลึก ลึกซึ้งๆๆ ละเอียดมาก ปราณีตมาก เป็นธรรมที่ปราณีตมาก  

ปัจจุบันธรรมนี่แหละ กายนี่แหละ จิตนี่แหละ ใจนี่แหละ ไม่ใช่ที่อื่นเลย ... ซ้ำลงไป บ่อยๆ ไม่ออกนอกนี้ ...ไม่ไกลหรอก อยู่ตรงนี้เอง   ไม่ได้อยู่เชียงใหม่ ไม่ได้อยู่กรุงเทพ ...อยู่ตรงนี้  ไม่ได้อยู่กับอาจารย์...อยู่ตรงนี้ ... ต่างคนต่างมี มีกาย มีจิต มีธรรมอยู่แล้ว  นั่นแหละ ของจริง มีของจริงอยู่กับตัว กลัวอะไร ฮึ

กลัว ...กลัวไม่จริง  เรากลัวอย่างเดียว กลัวไม่จริง  กลัวไปอยู่กับความไม่จริง เช่น ไปอยู่กับความคิด ไปอยู่กับความหวัง นี่ เรากลัวแทนเลย มนุษย์ นักปฏิบัติ กลัวเหลือเกินไอ้พวกเนี้ย เพราะมันไม่อยู่กับความเป็นจริง อยู่กับของจริงที่มีอยู่แล้ว

เพราะนั้นถ้ากลับไปอยู่กับของจริงที่ทุกคนมีอยู่แล้วน่ะ เราไม่กลัวเลยว่าผู้นั้นจะไม่เข้าถึงธรรม เราไม่กลัวเลยที่จะหลงออกนอกทางธรรม  แต่เรากลัวไอ้พวกที่ไปอยู่กับความคิด เรากลัวไอ้พวกที่ไปอยู่กับตำรา เรากลัวไอ้พวกที่ไปอยู่กับความเห็นนี่ เรากลัวพวกเนี้ย หลุดจักรวาลเลยน่ะ บอกให้

มิจฉาทิฏฐินี่จนข้ามภพข้ามชาติ ข้ามโลกข้ามจักรวาลเลย  จนพระพุทธเจ้าท่านบอกเลย พวกนี้ต้องฆ่าทิ้งน่ะ  คือท่านเปรียบว่าท่านเป็นคนสอนม้า ม้าไหนพยศมากจนที่สุดแล้วสอนไม่ได้ ท่านบอกว่าฆ่าทิ้งไปเลย คือไม่สนใจเลย เนี่ย

บางมิจฉาทิฏฐิเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะแยะเลย คือมันเถียงต่อต้านเอาหน้าดื้อๆ หน้าด้านๆ เลย  แล้วก็เข้าใจว่าตัวเองนั่นน่ะใช่เลย ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมอะไรเลย เป็นอุจเฉททิฏฐิ ...น่ากลัว น่าสงสาร

แต่เราไม่สงสารเลย...ถ้าใครอยู่กับความเป็นจริง...กายใจ  เดี๋ยวนี้ทุกคนมีความจริงอยู่แล้ว  ถ้าหยั่งลงไปในความจริงอันนี้...เดี๋ยวนี้ขณะนี้  เราไม่กลัวผู้นี้ไม่ถึงธรรม เราไม่กลัวคนนี้ไม่เข้าถึงธรรม  ยังไงก็ถึงธรรม ยังไงก็ถึงความรู้แจ้งแน่นอน

เพราะนั้นให้จำให้แม่น อย่าไปอยู่ที่อื่น อย่าหาอะไรที่นอกจากนี้  ไม่ว่าวิธีการนั้นดูดี ดูล้ำเลิศ ดูประเสริฐ ดูน่าเลื่อมใสขนาดไหน ...ไม่เอา  อย่าหลงคารม อย่าหลงความหว่านล้อมของสังขารธรรม ... ละซะ ละให้เด็ดขาดลงไป ให้จิตมันเกลี้ยงไปเลย  เหลือแค่รู้ล้วนๆ กับกายล้วนๆ กับขันธ์ล้วนๆ แค่นั้นน่ะ พอแล้ว

เร็วที่สุด ตรงที่สุด ลัดที่สุดแล้ว ไม่มีลัดกว่านี้แล้ว  ถ้าลัดกว่านี้ก็ไปรัดคอตายซะ (โยมหัวเราะ)  ไม่มีทางลัดจะลัดกว่านี้แล้ว ตรงจนไม่รู้จะตรงยังไง แน่วลงตรงต่อธรรมที่สุดแล้ว  ในสายของปัญญาวิมุตินี่ เราบอกให้เลยว่าคำสอนลักษณะของหลวงปู่ ตรงที่สุดแล้ว ไม่รู้จะตรงยังไงแล้ว  

มีแต่ไอ้นักปฏิบัติน่ะไม่ยอมตรงซะที หาทางอ้อมๆ ค้อมๆ อยู่เรื่อย  เดี๋ยวก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวก็ปรุงอย่างนี้ เดี๋ยวก็ ไอ้นี่ดีมั้ย หรือจะไอ้นั่นดีกว่ารึเปล่า อันนั้นจะเร็วขึ้นมั้ย อันนั้นจะถูกหรือเปล่า มัวแต่ไปอยู่ตรงนั้นทำไม  ไม่มีประโยชน์หรอก  ยิ่งคิดยิ่งโง่ ยิ่งทำตามความคิดยิ่งโง่ใหญ่ เข้าใจมั้ย  แค่คิดก็โง่แล้ว ยิ่งทำตามความคิดนี่โคตรโง่เลยแหละ ...ไม่เอานะ

ถ้าจะฉลาดก็รู้โง่ๆ ซะเลย  รู้เฉยๆ ไม่เอาห้าเอาสิบอะไรกับมัน  ไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่เรา อย่าไปเคารพมัน  เราเคารพพระพุทธเจ้า คือพุทธะ  พุทธะคือพุทโธ พุทโธคือใจ ใจคือรู้ รู้คือรู้ รู้คือตื่น รู้คือเห็นนั่นแหละ ... เคารพพระพุทธเจ้าองค์เดียว  องค์อื่นศาสดาหัวแหลม...ไม่เคารพ อย่าไปนอบน้อมต่อมัน จะตกเป็นทาสของมัน  เคารพพระพุทธเจ้า ให้ถึงพระพุทธเจ้าจริงๆ 

ตอนแรกก็ต้องเตือนกัน ต้องบอกกัน ... ไม่ครูบาอาจารย์เตือน ตัวเองก็ต้องเตือนตัวเองไปก่อน เพราะมันยังไม่ยอมเข้าถึงจริงๆ ขามันสั่น ใจมันไม่สู้  ขาสั่น...สั่นจะไปว่ะ คอยจะวิ่งไปเรื่อย  ก็ต้องคอยอบรมไว้ เอาน่า เอาพุทโธองค์เดียวหนา เอาพระพุทธเจ้าองค์เดียวหนา ...ไม่ต้องไปหาพระศรีอาริย์ด้วย  อยู่พุทโธองค์นี้ องค์นี้ผู้รู้อันนี้ เดี๋ยวเข้าถึงเองน่ะ

พอเข้าถึงพุทธะพุทโธแล้วสบายล่ะ ไม่เอาที่อื่นแล้ว  เริ่มเห็นที่อื่นเป็นเหมือนมิราจแล้ว เป็นเหมือนอากาศธาตุแล้ว เป็นเหมือน...ฮู้ ก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไร  นี่ สบายขึ้นแล้ว ไม่ใช่ ไอ้นั่นก็มี ไอ้นี่ก็ใช่ ไอ้นั่นก็อู้หู ไอ้นี่ก็อ้าหา อะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด ...ไม่ใช่ 

ให้มันตื่นรู้ที่เดียว มีตื่นอยู่ที่เดียวคือตื่นรู้ อยู่ในที่อันเดียวนั่นแหละ  นั่นแหละใกล้ชิดพระพุทธเจ้าที่สุดแล้ว เคารพนบนอบพระพุทธเจ้าด้วยเศียรเกล้า บูชาท่านด้วยการปฏิบัติบูชาอยู่เสมอ ไม่ต้องอาศัยอามิสดอกไม้ธูปเทียน ...คือเข้าไปข้างในไม่ได้หรอกดอกไม้ธูปเทียนน่ะ มันก็ต้องมีทางเดียวคือปฏิบัติบูชา  ถือว่าการรู้อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ท่าน คือรู้นี่แหละ เหมือนกับเคารพพระพุทธเจ้าโดยตรงเลย  

ไม่ต้องไปหาฝากขึ้นไปถวายในแดนนิพพาน ถวายข้าวถวายเงินเดี๋ยวเขาเอาขึ้นไปให้ (หัวเราะกัน)  เขามีด้วยนะ ถ้าแสนนึงนี่เดี๋ยวจะขึ้นไปถวายให้เลย อื้อ กลายเป็นอย่างนั้นไป  พระพุทธเจ้ากลายเป็นนายทุนใหญ่เลย เหมือนเป็นนายทุนใหญ่คอยรับสินบนอยู่บนนั้น มีนั่งแท่นคอยรับสินบน

เห็นมั้ย สัทธรรมปฏิรูป ธรรมะปฏิรูป  หรือว่าเขาเรียกว่าแอบอ้าง ลบหลู่พระธรรม ด้วยความไม่รู้นะ บิดเบือนพระธรรม  เนี่ย มันจะมีอยู่ตลอด  ต่อไปเราจะเจอเยอะ สัทธรรมปฏิรูปที่บิดเบือนธรรม โดยอาศัยคำพูดของพระพุทธเจ้านี่มาตีเข้าข้างตัวเอง

แล้วยังมีคนที่คิดว่าฉลาดกว่าคนอื่น เข้าไปโง่ตามอีกมากมายเลยต่อไป  ดีนะพวกเรา ที่มีปัญญาบารมีคุ้มกะลาหัว ถึงได้มาอยู่มาเจอกับเส้นทางที่เป็นธรรม  แม้จะเป็นกรรมฐานก็ตาม แม้จะเป็นลักษณะของปัญญา ... ธรรมที่ตรงอยู่ก็มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย 

ไม่ได้ว่าโชคดี ไม่ได้เคราะห์ดี ...แต่บุญดี บารมีดี ทำมาดี มีเคยทำเคยสะสมกันมา ... เพราะนั้นอย่าทิ้งเวลาให้มันเยิ่นยาวยืดเยื้อต่อไป กำชับตัวเอง ให้มันตั้งอย่าให้มันล้ม ... ใจน่ะ อย่าให้มันล้ม อย่าให้มันหาย อย่าให้มันตาย อย่าให้มันจาก

พอมันล้มหายตายจากปุ๊บ มันก็จะไปเกิดกับโลก เกิดกับอดีต เกิดกับอนาคต  ไปเกิดกับความคิด ไปเกิดกับเรื่องราวของสัตว์บุคคล ไปเกิดกับกิเลส ไปเกิดกับอารมณ์ ไปเกิดกับความโกรธ ไปเกิดกับความพอใจ  ...พวกนี้มันจะพาไปเกิดอยู่ตลอดเวลา

อย่าให้มันล้ม  ถ้าใจล้มเมื่อไหร่เกิดแน่  ถ้าใจไม่ล้ม เชื่อได้เลยระดับนึงว่าการเกิดหยุดแล้วชั่วคราว การเกิดในโลกหยุดตรงนั้นชั่วคราวแล้ว  เอาจนเป็นสมุจเฉท แล้วจะรู้เอง ... คราวนี้ไม่ฟังใครแล้ว มันเป็นแบบไอ้หัวดื้อเลยอ่ะ คือไม่ฟังโลกแล้ว ...ไม่ใช่ไม่ฟังด้วยอหังการ  แต่ไม่ฟังด้วยความที่ว่ามึงไม่มีทางหลอกกูได้อีกต่อไปแล้ว  แต่กูจะใช้มึง มึงไม่มีสิทธิ์มาใช้กู มันจะเป็นอย่างนั้น  

ใช้เป็นแล้ว คืออยู่เบื้องบนมัน ไม่ได้อยู่ใต้มัน อยู่เหนือมัน ... เพราะนั้นเหนือมันก็เหมือนเราขี่ม้า จะชักมันไปทางไหนก็ได้  ใช้มันไปตามประโยชน์อันควร หมดประโยชน์นั้นก็เดินไปตามลำพัง  มันก็หยิบไป ใช้ไป วางไป ตามปกติ  แต่ไม่ใช่ให้มันพาเรา หรือว่าเหนือเรา ขี่คอเราไปมา

ให้มันเป็นผู้นำ...ผู้นำมันก็สั่งการอยู่ตลอดเวลา  ความคิดบงการ อารมณ์บงการ ตัณหาบงการ   อะไรพวกนี้เป็นพวกเผด็จการ มันก็พาไปสู่ความเสื่อมเสีย พาไปสู่ความเป็นทุกข์ พาไปสู่ความไม่จบไม่สิ้น พาไปสู่ความผูกความพัน ก่อเกิดผูกเวรผูกกรรมต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น

รู้บ่อยๆ รู้ให้ชัดในปัจจุบัน อยู่แค่ปัจจุบัน ... การภาวนานี่ไม่ยากเลยถ้าอยู่กับปัจจุบัน  ไม่ว่าเส้นทางสายไหนก็ตาม ถ้ารู้จักคำว่าอยู่กับปัจจุบันให้เป็น เข้าใจเองน่ะ...ว่าธรรมจริงๆ มีเหลืออยู่แค่นั้นน่ะ  ถ้านอกจากปัจจุบันไป ให้รู้เลยว่าไม่จริง

เมื่อไม่จริงแล้ว...อย่าเอานะ อย่าไปอ้อยอิ่งกับมันนะ อย่าไปหาเศษหาเลยกับมันนะ อย่าไปหาผลประโยชน์กับมันนะ  ...ไม่เอาคือไม่เอา นั่น แล้วให้มันเด็ดขาดขึ้นมาเรื่อยๆ ... เพราะแรกๆ เราจะไม่สามารถเด็ดขาดได้หรอกในบางเรื่อง ยังมีข้อต่อรองกับมันอยู่ ยังมีพันธะสัญญากับมารอยู่ คือยังเซ็นสัญญาสงบศึกชั่วคราวก่อน เออ ยอมก่อนยกนึง  

ต่อไปต้องแข็งข้อขึ้นเรื่อยๆ กำชับขึ้นเรื่อยๆ  ไม่เอาคือไม่เอา ไม่จริงคือไม่จริง ... ต้องทิ้ง ทิ้งเลย ทิ้งแบบไม่เหลียวหลัง  นี่เขาเรียกว่าอนาลโย ไม่เหลียวหลัง ... ถ้าวางแล้ววางแบบไม่หวน ไม่หยิบกลับมา เหมือนน้ำลายที่บ้วนทิ้งน่ะ ไม่เลียคืนน่ะ ได้ขนาดนั้นเลย ทิ้ง...ทิ้งจริง

ใจมันจะเข้มๆๆๆ ขึ้น  ต้องเข้มขึ้นนะ ไม่ใช่ปฏิบัติไปอ่อนแอลงเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ทางแล้ว กิเลสครอบงำแล้ว ... ต้องเข้มแข็งขึ้น เข้มแข็งขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ตั้งมั่นขึ้น ละได้ชัดเจนขึ้น เร็วขึ้น ไวขึ้น ว่องไวขึ้น พั้บๆๆๆ นั่น มันถึงจะเท่าทันกันจริงๆ  ไม่ใช่เอ้อระเหยลอยชายเป็นแม่สายบัวรอเขามาขอแต่งงาน...ไม่ได้เรื่องนะ  
จนเหลือแต่ว่ารู้อะไรเห็นอะไรที่นอกเหนือจากปัจจุบัน...ละทันที ปล่อยออกเลย  กลับมารู้อยู่ตรงนี้ เท่านี้  ... เหลือปัจจุบันจริงๆ แล้วมันจึงจะแจ้งในปัจจุบัน  เมื่อแจ้งในปัจจุบันแล้วมันจึงจะวางปัจจุบัน มันจะหลุดออกจากปัจจุบัน

แต่แรกๆ ต้องละอดีตละอนาคตก่อน แล้วก็มาหยุดกับปัจจุบัน  เมื่อหยุดกับปัจจุบันแล้วมันจึงจะแจ้งปัจจุบัน  เมื่อแจ้งปัจจุบันแล้วมันจึงจะวางปัจจุบันในที่สุด

(ถามโยม) เข้าใจมั้ย


โยม –    ยังเกรงใจมารอยู่เรื่อย 

พระอาจารย์ –  เออ อ่อนข้อให้มัน มันก็กระโดดขึ้นขี่  เมื่อไหร่ที่เราพลิก จิตมันพลิกปุ๊บนี่...เหนือแล้ว  ให้เหนือมันอยู่เสมอ คือให้มีรู้อยู่ตลอด นั่นน่ะจะเหนือมัน  เมื่อใดที่ไม่มีรู้...มันเหนือเรา เมื่อใดที่รู้อยู่ มีสติอยู่...เราเหนือมัน ...ต่อไปมีแต่เราเหนือมัน ไม่มีมันเหนือเราเลย

นั่นแหละ ต้องฝึกเข้มงวดต่อตัวเอง ไม่ต้องไปเข้มงวดคนอื่น เข้มงวดตัวเอง  การที่เข้มงวดต่อตัวเองไม่มีใครรู้หรอก ใช่มั้ย  ทำอยู่นี่ มีสติอยู่ ใครเขาจะมารู้ แสดงอาการไม่ออกหรอก พูดก็ได้ คุยก็ได้ รู้อยู่นี่ ไม่เป็นไร  แต่เพียงว่าเราไม่ตั้งใจที่จะเอาจริงกับมัน ยังเป็นแม่สายบัว  ประมาท นั่นคือความประมาทนะ

พระอริยะเจ้าไม่เคยประมาทนะ ขนาดได้ที่ได้ฐานแล้วนี่ ท่านไม่ได้เป็นเจ้าสัวนอนกิน ท่านยังดำเนินต่อไป รักษาองค์รู้ต่อไป รักษากายใจต่อไป  แม้จะละได้เป็นขั้นๆ แล้ว ท่านก็ยังไม่จบ ท่านก็ยังไม่ทอดธุระในศีล สติ สมาธิ ปัญญาเลย

จนถึงลิมิท จนเต็ม จนเปี่ยม จนไพบูลย์ จนเข้าสู่ความไพบูลย์ของใจ  เมื่อไหร่เมื่อนั้น...จึงจะวาง ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ... ไม่วางก็ต้องวางแล้ว เพราะไม่รู้จะทำอะไรอีกแล้ว  คือมันทำจนไม่รู้จะทำยังไงอีกแล้ว มันละจนไม่รู้จะละอะไรอีกแล้วน่ะ มันรู้จนไม่มีอะไรที่ไม่รู้อีกแล้วอ่ะ เข้าใจมั้ย

อาศัยรู้ตัวเดียวนี่ มันรู้จนไม่มีอะไรที่จะบอกว่ามันไม่รู้อ่ะ นั่นแหละมันถึงจะเรียกว่าแจ้งจริง  มันรู้หมดน่ะ ไม่ว่านิดหนึ่ง หน่อยหนึ่ง  ไม่ว่าตรงนั้น ไม่ว่ากี่องศา กี่ฟิลิปดา เบี่ยงเบน เคลือบงำ เคลื่อนออกไปขนาดไหน ตอนไหน แล้วเปลี่ยนรูปลักษณะไหนออกมา มันรู้จนไม่มีอะไรที่มันไม่รู้น่ะ

นั่นน่ะเรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอด ไม่มีสงสัยลังเลในที่ใดๆ ทั้งปวงเลย  คือมันรู้จนไม่มีอะไรที่มันไม่รู้น่ะ ใจดวงนี้ ... หมดเลย อาสวะนี่ไม่มีทางมาปกคลุมมันได้เลย มันรู้จนหมด รู้จนจบ  นั่นแหละถึงจะถอนหายใจ สบาย

ตอนนี้...ยังต้องคร่ำเคร่งอยู่นะ คร่ำเคร่งๆ  คร่ำเคร่งแต่อย่าซีเรียส คร่ำเคร่งในสติที่เป็นสัมมา...ไม่ใช่มิจฉา คร่ำเคร่งในสมาธิที่เป็นสัมมา...ไม่ใช่มิจฉา  ถ้าคร่ำเคร่งในลักษณะที่เป็นมิจฉาเมื่อไหร่จะเครียด จะเครียด  ถ้ารู้ชัดเห็นชัดแม้แต่กระทั่งความทุกข์ที่ปรากฏก็ยังไม่เครียด

ทุกข์อยู่แต่ไม่เครียด ... ก็รู้อยู่ อย่างนั้นน่ะเรียกว่าสัมมา เริ่มเป็นสัมมาแล้ว  อดทนอยู่ ฝืนอยู่ กลืนอยู่ แต่มันไม่เครียด ... เพราะนั้นไอ้ที่เครียดเพราะอะไร เพราะมันแอบหวัง แอบหวัง แอบคาด แอบ  มีแอบ มีอีแอบอยู่ มีมิจฉาทิฏฐิที่เป็นอุปาทาน ..เมื่อไหร่ว้าๆ นั่นแหละ เครียด มีเวลาด้วย ...เครียด

รู้ไปเรื่อยๆ ดูมันไป อยากอยู่อยู่ไป หมดก็หมด ไม่หมดก็ไม่หมด ยังไม่ดับก็ไม่ดับ มันมีอีกก็รู้อีกอย่างนี้ สบายๆ แต่ไม่ทิ้งการรู้นะ  นั่น คร่ำเคร่งในรู้ แต่ไม่ซีเรียสต่อผล  ผลเรื่องของผล ช่างหัวมัน สุกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่สุกก็ไม่สุก นี่ ช่างมัน  นั่นน่ะ ไม่เครียด ไม่หนัก  ไอ้ที่มันเครียดมันหนักเพราะมัน


โยม – คาดหวัง   

พระอาจารย์ –   อือฮึ มันแอบด้วยมิจฉาเล็กๆ ...บางทีก็ไม่เล็กอ่ะ ใหญ่เลย บังเลย  เวลานั่งเนี่ยหน้าดำคร่ำเคร่งเลย ...เครียด  เครียดเกินไป บีบเกินไป คั้นเกินไป มันไม่พอดี  แต่รู้โดยคร่ำเคร่งนี่มันรู้แบบ ไม่ยอม กัดไม่ปล่อย รู้แบบกัดไม่ปล่อย

เอ้า เอาแระ ไปปฏิบัติกัน ... เอาให้มันจริง  การปฏิบัติอย่าเล่น อย่าปฏิบัติเล่น ต้องปฏิบัติจริง แล้วจะถึงความจริง.

…………………..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น