วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 7/8 (2)




พระอาจารย์

7/8 (550213B)

13 กุมภาพันธ์ 2555

(ช่วง 2)



(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 7/8 ช่วง1
http://ngankhamsorn7.blogspot.com/2014/10/78-1.html)


พระอาจารย์ –  การภาวนาต้องจริง เป็นเรื่องของคนจริง เพราะธรรมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเล่น  

เพราะนั้นการที่จะเข้าไปถึงของจริง เห็นของจริงนี่ ...การปฏิบัติต้องจริง ศีลสมาธิปัญญาต้องจริง ต้องต่อเนื่อง ต้องไม่ใช่เป็นพาร์ทไทม์หรือว่ารักเผื่อเลือก  มันจะต้องเป็นหลัก...งานหลัก คือเรียกว่าสัมมาอาชีโว

สัมมาอาชีโวจะมั่นคงได้ก็อาศัยสัมมากัมมันโต กระทำชอบ และมีดำริชอบ ... ต้องดำริซ้ำลงไปว่านี่คือวิถีแห่งพุทธะ นี่คือวิถีแห่งบัณฑิต นี่คือวิถีแห่งความหลุดพ้น นี่คือวิถีแห่งความรู้แจ้ง ...นี่คือวิถีแห่งการไม่กลับมาเกิด ไม่กลับมาตาย ไม่กลับมาทุกข์ ไม่กลับมารัก ไม่กลับมาชัง ไม่กลับมาชอบอีก 

ต้องดำริอย่างนี้บ่อยๆ คือการงานพวกนี้จึงจะเห็นว่าเป็นหลัก...ที่เหมือนกับลมหายใจเข้าออก...ขาดไม่ได้
 
นั่นแหละ เริ่มเป็นบัวปริ่มน้ำแล้ว แค่ตั้งสัจอธิษฐานด้วยความรู้สึกที่เป็นสัมมาว่าเป็นงานการที่ทิ้งไม่ได้ ขาดไม่ได้ ...ต่อไปนี่ เมื่อทำแล้วดำริเช่นนี้บ่อยๆ แล้วมีการน้อมกลับมารู้ กลับมาเห็น  ดูกายเห็นจิต ดูจิตเห็นกาย ดูกายเห็นจิต อยู่เสมอ อยู่อย่างนี้ ...มันจะสะสมกำลังไปทีละเล็กทีละน้อย 

ไอ้ที่จะๆๆ จะพ้น เดี๋ยวก็พ้นเอง ...ไม่ใช่ 'จะๆ' มาหลายชาติแล้ว  ใกล้แล้วๆ จะเข้าใจแล้ว จะได้แล้ว...ตายซะก่อน  ...มันไม่เข้าใจสักที เป็นอะไรวะ ไปคาอะไร 

เราบอกให้มันคาอะไร...คาขี้เกียจ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ...ไม่เอาอ่ะ 
เอาหมอน ที่นอน สรณัง คัจฉามิ๊
เอาอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว ญาติสนิทมิตรสหาย
การพูด การคุย ฮัลโหลๆ สรณัง คัจฉามิ๊ ...เนี้ย มันเป็นที่พึ่งไปหมด

ก็ต้องกลับมาหาพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ...พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละจึงจะเป็นที่พึ่ง 

เพราะนั้นพุทธะไม่ได้อยู่ที่ไหน ...ใจผู้รู้นี่แหละ รู้อยู่ที่ไหน รู้อยู่เสมอ  นั่นแหละเราอยู่กับพระพุทธเจ้า เฝ้าอยู่ เสนอหน้ากับท่านอยู่ ใกล้แล้วๆ ...แม้ท่านยังไม่รับเข้าธรรมสภา แต่ว่าเฝ้าไว้ก่อน อยู่ตรงนั้นก่อน  อบรมกาย อบรมจิต เดี๋ยวพอได้ที่ได้ทางก็จะเขยิบเข้ามา...ในใจ ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ...ธรรมคือที่ไหน ธรรมคือธรรมะปัจจุบัน กับใจที่รู้ปัจจุบัน ... เมื่อใดที่อยู่กับรู้กับใจกับกาย เมื่อนั้นแหละจะเห็นพระพุทธเจ้า เข้าใจพระพุทธเจ้ามากขึ้น เข้าถึงพระพุทธเจ้ามากขึ้น ... เพราะนั้นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ คืออยู่ที่ใจดวงนี้แหละ

แต่พวกเราพอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า...สักแป๊บนึงก็...'ที่นอน สรณัง คัจฉามิๆ ...เดี๋ยวรอก่อนนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยต่อนะเจ้าคะ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลา ขอทูลลาพระองค์ก่อน' (หัวเราะ) ...ลาไปลามาก็...ตายซะก่อน  หมดเวลา...เลเวลนึง

เพราะนั้นเมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็อยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ไปไม่มาที่อื่นแล้ว ... นั่นแหละถึงจะจริง ถึงจะเข้าถึงพุทธะจริง นั่นน่ะคือวิถีแห่งพุทธะ วิถีธรรม วิถีแห่งมรรค วิถีแห่งความหลุดพ้น วิถีแห่งความรู้แจ้ง ...ท่านเรียกว่าเอกายนมรรค 

ก็ไม่รู้จะตรงไหนแล้ว ตรงมรรคเป๊ะเช๊ะ ที่สุดแล้ว...รู้ตรงไหนพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้นแล้ว

ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปไหน ไอ้นั่นน่ะรูปขันธ์ท่านตาย ... พระพุทธเจ้าก็ยังมีให้เข้าเฝ้าอยู่ทุกวันน่ะ...พุทธะก็แปลว่าผู้รู้  ผู้รู้ก็คือว่าผู้ตื่น  ผู้ตื่นก็คือผู้เบิกบาน สะอาด สว่าง สงบ

พระพุทธเจ้ามีอยู่ที่นี้ ...จะไปหาที่ไหน จะไปเดือดเนื้อร้อนใจทำไมว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปแล้ว ไม่ได้เคารพท่าน ...พุทธะก็มีอยู่ตลอดเวลา  ...แต่ว่าเราเอาใจออกห่างเอง

เมื่อใจออกห่างปุ๊บ ... มาร ขันธมาร กิเลสมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร พวกนี้ ปั๊บ เข้ามาจับเลย  เห็นมั้ย ออกจากที่พึ่งอันประเสริฐ ออกจากเกราะคุ้มกันป้องกันที่แข็งแกร่งปุ๊บนี่ พญามารมาเลย...เริ่มตั้งแต่ขันธมาร กิเลสมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร โชคลาภวาสนามาคือเทวบุตรมาร 

มาแล้ว พอมาปุ๊บ พวกเรานี่ก็...'เฮ้ย เสี่ยวๆ คบมันเป็นเสี่ยวเลยนะ' ...ไปขึ้นเขาลงห้วย ไปเหนือมาใต้ ไปด้วยกัน เกิดด้วยกัน ตายด้วยกัน เป็นเนื้อเดียวกัน ...สมัครสมานสามัคคีกันจังกับมารนี่

ครูบาอาจารย์ก็บอก 'เฮ้ย มานี่ๆ เข้าใกล้เราหน่อย เข้าใกล้พุทธะหน่อย' ...มันก็กระมิดกระเมี้ยนเข้ามานะ แต่ลึกๆ น่ะอยากกระโดดออกจะตายชักอยู่แล้ว ... กระด้างกระเดื่องต่อพุทธะ พุทธธรรม พุทธจิต  พุทธวิถี 

เพราะนั้นวิถีแห่งพุทธะคือรู้อยู่เห็นอยู่ นี่แหละ ...ไม่ยาก ...แต่ก็ไม่ง่าย  เพราะว่ามันจะตายกับความขี้เกียจ ขี้เผลอ ขี้เพลิน ขี้หลง ขี้ลืม อ้างนั่นอ้างนี่ อ้างกาลอ้างเวลา อ้างสัตว์อ้างบุคคล อ้างโลกธรรมทั้งแปด 

มีข้ออ้างเมื่อไหร่ปุ๊บ ...มันก็ทูลลาพระพุทธเจ้าอยู่เสมอแหละ ไม่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพราะติดข้ออ้าง เป็นซะอย่างงี้ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ทางเลือก ...เอาไว้ก่อน

แต่บอกให้นะ พอเวลาใกล้ตายนะ ฮื่อ ร้องเรียกหา "พระพุทธเจ้าอยู่ไหน ช่วยลูกด้วย  พุทธะพุทโธ ช่วยลูกด้วย"  พระก็บอกว่าให้พุทโธๆ ไว้ "เฮ้ย โยม พุทโธๆ เข้าไว้ นึกถึงพระพุทธเจ้าเข้าไว้ๆ"  มันก็บอก "กูเจ็บจะตายห่าอยู่แล้ว ไม่เอาแล้ว" 

ถึงเวลานั้นน่ะ พุทโธมันยังปฏิเสธเลย  แล้วถึงว่าเขาบอกให้พุทโธๆ มันก็ยังเป็นพุทโธรูปภาพ ไม่ใช่พุทโธที่เป็นใจนะ  นึกถึงรูปพระเอาไว้ โอ้โห มันยังเป็นรูปพระอยู่เลย ...แต่ขนาดนั้นมันยังนึกไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงใจรู้ใจเห็นน่ะ

เพราะนั้นทำไมถึงต้องทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ...เพื่อลบความเคยชินที่เป็นพันธมิตรกับมาร  มารมันขี่คอน่ะ... ยืนเดินนั่งนอนนี่  ไปๆ มาๆ ทั้งชีวิตนี่ ตั้งแต่ตื่นนอนมานี่ เดินมานี่...มารขี่คอมาตลอด แล้วก็บอก 'เฮ้ย มึงไปนี่ มึงไปนั่น มึงทำอย่างนี้นะ มึงพูดอย่างนี้นะ' ...มารทั้งนั้นน่ะ ไม่รู้จักเลยรึไง

แต่เมื่อใดที่มีการรู้ตัวๆ รู้ว่าทำอะไรอยู่ เห็นว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้น ...ขณะนั้นสลัดมารลงแล้ว เป็นตัวของตัวเองแล้ว ...ช่วงหนึ่ง ขณะหนึ่ง ก็ยังเป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นวิถีอันประเสริฐแล้ว

และถ้าขยันพากเพียรบ่อยๆ น่ะ เอาจนเหนือมารทั้งห้า ขันธมาร กิเลสมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร มัจจุมาร นี่ มารน่ะไม่ได้ผุดได้เกิดหรอก บอกให้

จากนั้นก็เดินองอาจผ่าเผย ด้วยความเป็นพุทธะพุทโธ ผู้รู้ผู้เห็นอยู่ตลอดเวลา ...ทำอะไรด้วยอาการรู้อาการเห็นอยู่ตลอดเวลา  นั่งก็เป็นผู้ที่รู้ว่านั่ง เดินก็เป็นผู้ที่รู้อยู่ว่าเดิน คิดก็เป็นผู้ที่รู้อยู่ว่าคิด พูดก็เป็นผู้ที่รู้อยู่ว่าพูด ... อย่างนี้ มารไม่ได้ช่องหรอก บอกให้ ...นี่จึงจะพ้นจากบ่วงมาร จึงจะเล็ดลอดออกจากบ่วงมารนี้ได้

ฟังธรรมก็เยอะกันแล้ว แต่ทำน่ะมันน้อย  เข้าใจน่ะเข้าใจ แต่ขี้เกียจน่ะเยอะ ...เพราะนั้นว่า ฟังเท่าไหร่ เข้าใจมากเท่าไหร่ ก็แค่นั้นนะ ... เมื่อใดที่ยังไม่น้อมนำไปพากเพียรปฏิบัติ ต่อให้เข้าใจขนาดไหน ก็แค่นั้นนะ 

มันสำคัญที่ลงมือทำ ...ไม่ใช่แค่ลงมือ ตีนด้วย ตัวด้วย ใจด้วย เนี่ย มันต้องลงมือให้พร้อมเลยทั้งกายใจ ...เมื่อได้ลงมือจริง ทำจริง ด้วยความพากเพียรต่อเนื่องแล้วนี่  ไม่ต้องถามหาผล เก็บเกี่ยวไปเองได้เลย ...ไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอผลเลย 

ลงมือทำไป ทำด้วยวิถีที่ดูโง่ๆ นี่แหละ ... รู้ไปเห็นไป ไม่ต้องแก้ไม่ต้องหนี  อดทนไป รู้กายลงไป ยืนเดินนั่งนอน  ถามตัวเองบ่อยๆ ว่าทำอะไรอยู่  แล้วก็กลับมาดูว่ามันกำลังทำอะไร มันกำลังอยู่ในท่าไหน  จิตกำลังทำอะไร จิตมันอยู่ในอาการไหน

แต่จิตน่ะดูแป๊บๆ พอแล้ว ...อย่าดูมาก ดูพอให้รู้ว่ามีอาการไหนแค่นั้น แล้วก็กลับมาสังเกตลงที่กายมากๆ  เพราะจิตเป็นเรื่องละเอียด ถ้าไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นดีพอแล้วนี่ จะหลงง่าย จะหลงไปกับจิตได้ง่ายกว่า 

แม้กระทั่งเวทนาสุข-ทุกข์ด้วยนะ หรือไม่มันก็จะหลงหายไปกับอาการเวทนาที่เรียกว่า อทุกขมสุขม...คือเฉยๆ  นี่ มันจะเพลินไป  ตอนที่ไม่มีอารมณ์น่ะ ตอนที่ไม่มีอะไร ไม่มีความรู้สึกอะไรน่ะ ... มันจะหาย 

เพราะนั้นจะไปตั้งอยู่กับเวทนาตรงๆ ก็ยังไม่ได้  ก็ให้รู้พอเป็นเลาๆ คร่าวๆ ว่ามันเกิดขึ้นอย่างนี้นะ มันกำลังสุขอยู่นะ  มันกำลังหงุดหงิดรำคาญไม่พอใจอยู่นะ แค่นี้พอแล้ว  แล้วกลับมาตั้งมั่นกับกายมากๆ รู้กายมากๆ ...นี่เป็นรูทีนเลย เป็นหลักเลย

แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเวทนา จิต ธรรม ที่มันจะเกิดเป็นระยะๆ ...ก็ช่างมัน ก็ดูไปรู้ไป  แต่อย่าไปจดจ้องหรือว่าเอาเป็นฐาน ...เพราะว่าตรงนั้นน่ะคือบ่วงมาร หรือว่าเป็นช่องของกิเลสมาร จะเข้าได้ง่าย  คือจะเกิดความเผลอเพลินได้ง่าย และจะเกิดความไม่ชัดเจนได้ง่าย แล้วเกิดความกลมกลืนโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย

แต่พอกลับมาที่กายนั่งปุ๊บนี่...รู้เลย ก้อนนี้นั่ง ก้อนนี้ตึง แล้วก็มีใครรู้อยู่ข้างใน ... นั่นน่ะมันจะชัดลงในกายใจปัจจุบันได้...บ่อยๆ 

เพราะนั้นเวลาเรารู้กายรู้ใจ รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดินนี่ ... ภายนอกมันไม่มีใครรู้หรอก ไม่มีใครสนใจหรอก มันไม่ได้ไปขัดแย้งโต้แย้งหรือว่าไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร หรือว่าไปแสดงอากัปกิริยาอาการให้คนเขาดีใจเสียใจหรือรังเกียจเดียดฉันท์อะไรได้หรอก

แม้แต่การภาวนารู้อย่างนี้ในตัวของเราเองนี่  คนอื่นใครๆ เขาก็ยังไม่รู้เลยว่าเราภาวนา  เขาก็ไม่ได้รู้สึกแบ่งแยกเรา ว่า 'เอ้ย ไปทำที่วัดสิ มาทำงานจะมาทำอย่างนี้ได้ยังไง ที่นี่ที่ทำงานนะ ไม่ใช่ที่ภาวนา' ...นี่มันจะว่ากันอย่างนั้น ถ้าไปทำในรูปแบบนั่งสมาธิ เดินจงกรมเท่านั้น

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครจับได้หรอก ตำรวจไม่จับ ไม่มีใครรู้ได้หรอก ...มีแต่เรารู้เอง ว่ากำลังรู้อยู่มั้ย กำลังรู้สึกที่กายมั้ย กำลังเห็นอาการทางกายมั้ย ... นี่ สอบทวนอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจ

อย่าขี้เกียจ อย่าปล่อยปละละเลย อย่าปล่อยให้เวลาล่วงไปกับอะไรก็ไม่รู้ที่ไร้สาระ ...เดี๋ยวก็ตายแล้ว จะไปเอาอะไรกับมันมากมาย เดี๋ยวก็ไม่เหลืออะไร อยากได้อยากเป็นอะไร ใครจะเป็นอะไร หรือเขาจะไปเผาศพฝังศพเรายังไง ...ไม่สนใจแล้ว 

ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปล่วงหน้ากับอะไรแล้ว  ลูกเต้าหลานเหลน โตแล้วก็ไปเกิดไปตายเอาเอง เรื่องของมันแล้ว  ทิ้งมันไปเถอะ วางมันซะบ้าง ... เอาตัวเองให้รอดๆ  รู้กายรึยัง เห็นกายรึยัง เข้าใจรึยังว่ามันคืออะไร  อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด ยังไม่รู้เลยว่ากายคืออะไรนี่ โง่ ...ไม่สมควรเกิดมานะนั่นน่ะ

อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด แต่ยังไม่รู้จักเลยว่ากายคืออะไร  ใช้กับมันมานี่ แทบเป็นแทบตายกับมันมา ยังไม่รู้เลย เฮ้ย  ยังบอกว่า กายเราๆ น่ะ  ยังมาบอกว่ากายเรา เราเป็นผู้หญิงๆ เรากำลังแก่ๆ  เชื่ออยู่อย่างนั้นน่ะ

เอาจนให้มันรู้ว่ากายจริงๆ คืออะไร มันเป็นใคร หรือมันไม่ได้เป็นใคร  มันเป็นของใคร หรือมันไม่ได้เป็นของใคร  หรือว่ามันไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นในกาย... นั่น อยู่แบบบัณฑิต อยู่แบบผู้รู้น่ะ  ไม่ใช่อยู่แบบผู้โง่เขลาเบาปัญญา อยู่แบบผู้ลุ่มหลงมัวเมา ...มันอยู่ทำไม เสียชาติเกิด เกะๆ กะๆ เก้ๆ กังๆ รกโลก

ห้าหกพันล้านในโลกนี้ก็รกเต็มที่แล้ว เราก็ยังจะอยู่ในสารบบแห่งการรกกับเขาด้วยเหรอ  ...อุตส่าห์มาเกิดในเมืองไทย แล้วมาเจอพุทธศาสนาอีกในเมืองไทย แน่ะ แล้วดันมีพระอรหันต์อยู่ในเมืองไทยอีกต่างหาก ... เออ ยังปล่อยให้โง่ๆ เป็นงงๆ งึมๆ เกะๆ กะๆ เก้ๆ กังๆ เหมือนกับหกพันล้านที่ไม่มีโอกาสอย่างนี้เหรอ

เพราะนั้นในหกสิบล้านในประเทศไทยนี่ ถือว่าเป็นหนึ่งในร้อยล้านพันล้านนะ  ในโลกนี่หกพันล้านนะ ที่ไม่มีได้ยินได้ฟังเลย...ว่ากายคืออะไร ใจคืออะไร ศีลคืออะไร สติคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาที่แท้จริงคืออะไร

พวกเรานี่ได้ยินจนหูจะทะลุแล้ว ยังปล่อยให้ 'เฮ่อๆๆ เฮ้อ'...ซะยังงั้น ... 'รอชาติหน้าก่อนค่อยทำ' เออ ชาติหน้าไม่เจอแล้วทำยังไง หือ ไม่เจอกันแล้วนะ ทำยังไง ...ไปเจอใครล่ะ แล้วเชื่อได้มั้ยล่ะ แล้วมันเป็นธรรมที่แท้จริง หรือธรรมจอมปลอมรึเปล่าล่ะ อย่างพวกเราตัดสินอะไรได้ล่ะ

โอกาสมีแล้วน่ะ ...ไม่ใช่โชค ไม่ใช่เคราะห์ ไม่ใช่ดวง  ปุพเพกตปุญญตา สมควรแห่งการเกิดมาแล้ว  ขนาดว่าในเมืองไทยนี่กว่าหกสิบล้าน ก็มีกระจ่อมนึงที่ได้ยินได้ฟังธรรมเช่นนี้นะ  พระก็มีเป็นแสนน่ะเอ้า ที่สอนกัน  กัมมัฏฐานก็สี่สิบห้องน่ะ ไปไล่ทุกห้องดูเอา หลากหลายวิถีการปฏิบัติ

ก็ลองมากันทั้งนั้นน่ะ แล้วก็รู้อยู่แล้วมันเป็นยังไง ยังว่า...'งงว่ะ ไม่ไหวแล้ว ตายแน่เลย ทำไม่ได้หรอก' แล้วเนี่ย อย่างที่เราสอนนี่ เรียกว่าเป็นธรรมที่แทบจะว่า 'นี่ส้มนะ นี่ปอกให้เลยนะ นี่ฉีกเป็นกลีบเลยนะ เอาสาแหรกออกให้ด้วยนะ...เอ้า อ้าปาก' (โยมหัวเราะกัน) ...ไม่รู้จะยังไงแล้วอ่ะ เข้าใจมั้ย

งั้นก็ไปพุทโธไป๊ ไปดูกายเอาจนเป็นกระดูกไป  นั่นก็ธรรม ... เราไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก ...แต่มันยาก เข้าถึงได้ยาก  แล้วก็ต้องใช้กำลังอย่างมาก ต้องอาศัยการสั่งสมมากมาย และอาศัยความเพียรที่ยิ่งยวดด้วย ...เป็นธรรมจำเพาะจริงๆ

ก็เคยทำกันมาแล้วนี่  พุทโธกันมาไม่รู้เท่าไหร่ หลายกระบุงแล้ว  ไม่เห็นสงบซักที ใช่มั้ย  หรือสงบแล้วก็ไม่เห็นเข้าใจอะไรสักอย่าง มีแต่กิเลสมากขึ้น ... แบบออกจากวัดนี่ก็ยิ้มไป  แต่พอกลับถึงบ้าน...'หงุดหงิดโว้ย'  เห็นอะไรก็หงุดหงิด ...'อย่ามาใกล้กูนะ พึ่งออกมาจากวัด' (โยมหัวเราะกัน) 

เข้าใจรึเปล่า นี่มันภาวนาภาษาอะไรของมันวะ ...อุตส่าห์พุทโธ้พุทโธมา รักษาอย่างดีเลย  กลับมาถึงบ้าน ...'หงุดหงิด อย่ามาใกล้นะ เพิ่งออกมาจากวัดนะ' เป็นอย่างนี้

เพราะนั้นธรรมนี่ มีอยู่ใกล้ชิดติดเนื้อติดตัวอยู่แล้ว  สำคัญว่าอย่าขี้เกียจ  แล้วก็อย่าไปหลงว่ายังมีวิธีอะไรที่ดีกว่านี้อีก...ไม่มีแล้ว ... คือบอกแล้วว่าธรรมแบบที่เราสอนนี่ คือ ...'อ้าปากนะคะๆ (หัวเราะกัน) อันนี้น้ำหวาน ให้กิน ไม่ขมหรอกนะคะ' 

มันยังเป็นแบบ ...'ไม่เอ๊า หนูไม่กิน หนูไม่เอ๊า  หนูคิดว่าจะไปหาอะไรทำอีก  แบบต้องทำอย่างนี้อีกรึเปล่าคะ ต้องทำอย่างนั้นอีกรึเปล่า' ...อู้ย มันจะเอาอะไรของมัน ฮึ มันจะเอาถึงขนาดไหน ...มันเป็นซะอย่างงั้นน่ะ กิเลส อย่าไปฟังมัน 

คือตั้งใจลงไป ...เอาอะไรก็เอาให้จริง ทำให้จริง ปฏิบัติให้จริง  รู้ให้จริง รู้ให้ชัด รู้ให้ตรง  แล้วก็มันจะรู้แจ้งขึ้นมาเอง ขอให้มันจริงลงไปสักอย่างเถอะ ... ในที่นี้เราแนะนำให้จริงในกาย แค่นั้นเอง 

แล้วอาศัยกายเป็นหลัก ง่ายที่สุดแล้ว ...ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าว ร้องขอ อ้อนวอนว่า 'กายจงปรากฏ' (หัวเราะกัน) มันก็มีอยู่แล้ว มันต้องหามั้ยเนี่ย...กายน่ะ  

บางทีเข้าป่าหาแทบตาย นั่งหลับตาเพื่อจะหาพุทโธ เพื่อจะหาความสงบ ... เราถามว่ากายนี่ต้องหามั้ยนี่ ตรงไหนก็มีอยู่แล้ว  ไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอใดๆ ไม่ต้องบนบานศาลกล่าว ไม่ต้องติดสินบาดคาดสินบน ...อยู่ที่ไหนก็ได้ ตอนไหนก็ได้  ถ้าลืมตาขึ้นมาตื่นขึ้นมาปั๊บนี่...กายปรากฏแล้ว

แล้วกายนี่เป็นรังของกิเลสทั้งหมด  ขันธ์ทั้งห้าก็อยู่ในกายนี้แหละ ...ถ้ารู้กายเห็นกายแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เห็นนามทั้งสี่ จะไม่เห็นกิเลสทั้งสามที่เป็นรากเหง้า จะไม่เห็นอาสวะ...มันอยู่ในเนี้ยแหละ อยู่ในก้อน...ปริมณฑลหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี่เอง 

ถ้าใจมันไม่รู้ออกไปนอกหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบนี้  มีรึมันจะไม่แจ้งในขันธ์ห้า ...ไม่ต้องกลัว

อย่าไปกลัวว่ามันหยาบเกินไป ...บางคนก็บอกว่ามันง่ายไปอาจารย์ ขออะไรยากๆ ได้มั้ย ... อยากได้ยาก เดี๋ยวจัดให้ ... พอให้จริงๆ แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ  

ครูบาอาจารย์ท่านทำมาแล้ว ไม่ใช่ท่านไม่เคยทำนะ ...ไอ้ของยากท่านทำ ท่านเข้าใจ ท่านผ่านแล้ว แต่ท่านไม่เอามาพูด และไม่มาแนะนำให้ทำตามด้วย ...ไม่งั้นน่ะ การภาวนาจะเหมือนยาขมทันทีเลย

เพราะนั้นน่ะ สิ่งที่สอน หรือที่ครูบาอาจารย์ให้เจริญปัญญา...มันเหมาะแล้ว พอดีแล้ว  ใช้การได้ด้วย ได้ผลด้วย รับรองได้ด้วย บอกให้  ไม่ต้องไปทำอะไรเกินกว่านี้แล้ว ...ส่วนคนที่เขาอยากเกิน ก็ให้เขาเกินไป  ครูบาอาจารย์ที่สอนในส่วนที่เกินก็มี นั่นก็ต้องให้ครูบาอาจารย์ท่านควบคุมอบรม ผลักดันกันไป

แต่เราก็ไม่ต้องไปว่าอันนี้ใช่ หรือว่าอันนี้ถูก หรือว่าอันนี้ผิด ...ไม่ต้องเอาถูกเอาผิดอะไร รู้กายอย่างเดียว ...พอเริ่มจะหาว่าอันนี้ผิดมั้ยๆ ให้รู้เลยว่าหลงคิดอีกแล้วๆ...ไม่เอา  ถ้าขึ้นชื่อว่าหลงคิดแล้วจะไปเอาทำไม รู้กายซะๆ เออ

แต่มันห้ามไม่ได้นะ เดี๋ยวก็หลงอีกแล้ว คิดอีกแล้ว...แต่ไม่เอา  รู้ใหม่ กลับมารู้กายใหม่ อยู่อย่างเงี้ย  โง่ได้โง่ไปๆ ดูซิ มันกลัวโง่น่ะ ...ก็รู้อยู่แค่นี้ เอาดิ ... มันจะโง่เพราะคิดว่าเราโง่ แค่นั้นเอง  ถ้าไม่คิดว่าโง่ มันไม่โง่หรอก บอกให้

มันโง่เพราะความคิด ไม่ได้โง่เพราะความจริง  เมื่อคิดเมื่อไหร่ก็โง่ คิดว่า 'เออ โง่อีกแล้วเว้ยเฮ้ย ถ้ารู้แค่นี้โง่' ... เนี่ย คิดทั้งนั้นน่ะ มันโง่เพราะคิด ไม่ได้โง่เพราะรู้จริงนี่  แล้วไปเชื่อความคิด ก็โง่เท่านั้นน่ะ  ก็กลายเป็นไอ้โง่ไปเลย ใช่มั้ย  มีตัวเราโง่ไปเลย มีตัวเราในความคิดที่โง่พร้อมเสร็จเลย

แล้วก็ยังทำไปตามความคิดที่โง่อีกเหรอ คือไปหาวิธีการอีกแล้ว ...'ทำยังงั้นดีมั้ย อย่างโง้นดีมั้ย วิธีการอย่างนั้นดีมั้ย หรือจะต้องโกนหัวบวชชีดีมั้ย หรือจะต้องถือศีลกี่ข้อ หรือจะต้องเพิ่มตรงนั้นมั้ย' ... อะไรอย่างเงี้ย ทั้งหมดนี่เป็นแค่ความคิด

จะเล่านิทานให้ฟัง ...มีคนอยู่กลุ่มนึงคุยกัน แล้วบอกว่า "สมมุติว่ามีเงิน ได้เงินมรดกมานี่ทีเดียวเลยร้อยล้าน ...จะทำยังไง"  

แต่ละคนมันก็บอกว่าเดี๋ยวจะไปซื้อบ้าน เดี๋ยวจะไปซื้อที่ เดี๋ยวจะไปเที่ยวรอบโลก เดี๋ยวจะไปลงทุนด้วยไอ้ร้อยล้านนี่ เดี๋ยวจะไปฝากแบงค์ เดี๋ยวจะไปทำอะไรให้มันงอกเงยออกมา เดี๋ยวก็จะเอาไปใช้ให้มันมีความสุขที่สุด ...แต่ละคนก็พูดว่าร้อยล้านจะเอาไปทำอะไร

มีคนนึงบอกว่า "กูจะเอามันไปเผา" ...พอบอกกูจะเอาไปเผา คนอื่นทั้งหมดมันก็ตกใจ บอก "เอ้ย จะไปเผาได้ยังไง ตั้งร้อยล้านนะไปเผาได้ยังงั้ย"  ไอ้นี่มันก็บอกว่า "ทำไมจะเผาไม่ได้ล่ะ...ก็มันเป็นแค่ความคิด  ที่มึงคิดว่าจะเอาไปสร้างนั่นสร้างนี่ คิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ...มันก็เป็นแค่ความคิด"

เห็นมั้ย ความจริงจังของคนนะ ... พอบอกว่าเอาไปเผานี่ มันจริงจังนะว่ามันจะสูญเสียอะไร  แล้วห้ามด้วยนะว่าทำไม่ได้ๆ ... ก็บอกว่า มันเป็นแค่ความคิด ทำไมจะเผาไม่ได้ ...เพราะทั้งหมดยังไม่มีอะไรจริงเลย

แต่ไอ้ที่นั่งคุยนั่งพูดอยู่นี่ จริงนะ ...ทำไมไม่อยู่กับความจริงล่ะ ปัญญาบอกว่าเห็นตามความเป็นจริง ไม่ได้เห็นตามความไม่จริงนะ ...ยังไปหาความไม่จริงอยู่ทำไม ยังไปตามความไม่จริงอยู่ทำไม ยังไปตามหาวิธีการในอดีตอนาคตอีกทำไม

ของจริงมีอยู่กลับไม่อยู่ ของจริงมีให้ดูกลับไม่ดู ... อยากจะดูแต่ของไม่จริง อยากจะดูแต่ของในตำรา อยากจะดูแต่ความเห็นของคนอื่น อยากจะดูแต่ธรรมของคนอื่น อยากจะรู้แต่ธรรมของคนอื่น... 'เธอเป็นยังไง เมื่อกี้เธอนั่งน่ะ ดีรึเปล่า ชั้นน่ะไม่ค่อยดีเลย' (หัวเราะกัน) 

ทำไม มันเป็นโรคอะไรกัน ธรรมตัวเองไม่รู้ ชอบไปรู้ธรรมคนอื่น (หัวเราะ) เป็นเชื้อไวรัสเหรอ ...แล้วก็ถามกันต่อๆ กันไป แอบกระซิบกระซาบเลยนะ เหมือนขายของโจรเลย ...มันเป็นโรคอะไร  ของดี ของจริงไม่ดู ชอบไปดูของคนอื่น

จิตไม่รู้นี่มันชอบ เข้าใจมั้ย แล้วมันเคยชิน  นี่คือความเคยชิน ...เราไม่ได้ว่ามันผิดหรอก  เพราะพวกเราเคยใช้อาการลักษณะเช่นนี้มาข้ามภพข้ามชาติ นับไม่ถ้วนแล้ว ...ไม่ใช่ว่าไม่ชอบหรือชอบมันนะ แต่ว่ามันเคยชิน 

เพราะนั้นสติคือระลึกและเท่าทันความเคยชินที่ไม่ดีอย่างนี้ต่างหาก ...ต้องฝึก ต้องอบรม ต้องขัดเกลา ต้องทวนกลับ ต้องฝืน อย่างนี้  นี่...มันจะตายมั้ย (โยมหัวเราะกัน) 

ใจน่ะไม่ตาย ขันธ์น่ะมันมีสิทธิ์ตายอยู่ ...'คือใจไม่ตายน่ะค่ะ แต่หนูจะตายแล้วค่ะ' ... มันเป็นอย่างเงี้ยแหละ เห็นมั้ยว่า ความเชื่อความเห็น ความผูกความแน่นในความถือมั่น...ว่ากายนี้เป็นเรา จิตนี้เป็นเรานี่ มันหยั่งเข้าไปลึกซึ้งมาก

อยู่กับรู้ อยู่ที่รู้ไว้ ...ลาจากโลกภายนอก แล้วก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าภายใน พระอริยสงฆ์ท่านก็อยู่ภายในนั่นแหละ ...ทุกคนมีของดีอยู่แล้ว อย่าทิ้งของดี...คือใจ 

ใจเป็นของดีอยู่แล้ว อย่าไปหาของไม่ดีมาใส่ใจ และอะไรที่ห่อหุ้มใจไว้ก็เอาออกไป  ให้เหลือแต่รู้อย่างเดียว กับกายอันเดียว กับขันธ์ตามปกติของขันธ์นั่นแหละพอแล้ว นอกนี้ เกินหมด ...จำไว้ ทิ้งมันไปซะบ้าง 

ภาวนาอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ แค่นั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรหรอก นอกจากว่าลืมมั้ย รู้มั้ย  ถามตัวเอง 'รู้อยู่รึเปล่า เห็นกายมั้ย รู้มั้ย กายกำลังทำอะไรอยู่'  ถามตัวเองบ่อยๆ อย่าให้ลืม ไม่มีอะไรก็ถามตัวเองว่า 'รู้อยู่มั้ย มีรู้อยู่มั้ย' แค่นั้นน่ะเป็นการเรียกสติ

แล้วก็ตั้งมั่นขึ้นมา เสมอ ไม่ต้องทำงานอื่น ... งานภายนอกก็ไม่ต้องให้ความสำคัญเกินไป บางทีเราให้ความสำคัญกับงานภายนอกจนลืมงานภายใน ...ทำไมสายกัมมัฏฐานสายหลวงตาจึงไม่ให้พระทำงาน เพราะมันมักจะหลงในงาน

ส่วนญาติโยมก็จะหลง หลงไปว่าทำแล้วจะช่วยเหลือเกื้อกูล มันก็ลืมภายใน ... คือบุญก็ทำไป ราก็ไม่ได้ว่า  แต่ยังไงก็ให้รู้อยู่ว่างานภายในอันนี้เป็นงานหลัก ถือเป็นงานหลัก เป็นคอร์ส ไม่ใช่แอสแสสเซอรี่ ...ไอ้ที่พวกโยมทำให้เราหรือว่าทำประโยชน์กับเรา ให้เราสุขสบายนี่ เป็นแอสแสสเซอรี่ ไม่ใช่หลัก

ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้ถืออันนั้นเป็นสำคัญ ...สำคัญว่าพวกเราน่ะทำอยู่มั้ย รู้อยู่มั้ย  อันนี้คือปฏิบัติบูชา  และไม่ใช่บูชาแค่ครูบาอาจารย์ บูชาคุณพระพุทธเจ้าเลยแหละ ...ถึงเรียกว่าการปฏิบัติเป็นการบูชาอันสูงสุด 

อามิสบูชานั่นเป็นบูชาเล็กน้อย มันเป็นแค่บุญแล้วก็สุขสบายๆ แค่นั้นเอง ...แต่ว่าอานิสงส์สูงสุดคือปฏิบัติบูชาคุณ เป็นบูชาสูงสุดแล้ว ...อานิสงส์คือไม่กลับมาเกิด

นี้ต่างหากที่พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนทำ ... แล้วก็นอกนั้นเป็นงานรอง เอางานหลักให้จบก่อน ...พองานหลักจบแล้ว จะทำอะไรก็ได้  ไม่ทำอะไรเลยก็ได้  จะสงเคราะห์ จะช่วยเหลือ จะเกื้อกูลจะไม่เกื้อกูลใครก็ได้ ตามสะดวกสบายใจ

แต่ตอนนี้งานนี้ต้องให้เสร็จ งานภายในต้องให้เสร็จ  ...สติสมาธิปัญญาต้องไพบูลย์ ต้องเต็มเปี่ยม ต้องให้ล้นจนอิ่มเอิบอาบในขันธ์ห้าทั้งหมด ...ถึงแจ้ง ถึงชัด 

ครูบาอาจารย์นี่เคี่ยวเข็ญ เสียเรี่ยวเสียแรง เสียน้ำลาย ...ไม่ได้เพื่อความสุขความสบายของตัวเอง  แต่เพื่อให้ทุกคนขยัน เพื่อให้ทุกคนเห็นตัวเองมากๆ เห็นความเป็นจริงของกายของจิต  จะได้ละ จะได้ปล่อย ...เมื่อใครเข้าใจแล้วมันก็ปล่อยเองน่ะ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้สั่งให้ปล่อย  มันปล่อยเอง นั่น

แต่ว่ามันไม่ขยัน ... ครูบาอาจารย์ก็ต้องกระตุ้น พยายามกระตุ้นกันไป  พูดทุกวิถีทาง พูดหลายอุบาย อะไรทั้งหมดก็รวมลงเพื่อการนี้เท่านั้น ... ไม่ว่าอาจารย์องค์ไหนๆ ก็ตาม จะพูดธรรมแง่ไหนมุมไหนก็ตาม ทั้งหมด...ก็เพื่อให้กลับไปทำ เพื่อให้ตัวเจ้าของใจดวงนั้นน่ะมันรู้เองเห็นเอง  แล้วปล่อย แล้ววาง ไม่เอา ไม่เก็บ แค่นั้นน่ะ

เห็นการปล่อย เห็นการวาง เห็นการหลุด เห็นการพ้นของแต่ละคนแล้ว ครูบาอาจารย์ได้กำลัง...จะได้กำลังใจจากตรงนั้น  ...ไม่ได้กำลังจากที่ท่านอยู่กินดีหรอก  ท่านก็ตายเหมือนกัน ไม่ได้มีความสุขอะไรกับการมีชีวิตที่ดีหรือไม่ดี

แต่ว่าเมื่อใดที่เห็นคนที่ฟัง...แล้วทำ...แล้วได้ผล  นั่นน่ะ เป็นยากำลัง...เป็นกำลัง  แล้วก็มันก็สามารถที่จะไปต่อเติมเพิ่มเสริมให้กับคนอื่นๆ ในคนที่กำลังเริ่ม กำลังทำ ...เป็นการพยุงสัตว์โลก พยุงโลก ไม่ให้ถึงกาล ถึงแก่กาละ คือการแตกดับไปโดยปริยาย 

นี่คือการเกื้อกูลโลกเหมือนกัน ตั้งแต่เกื้อกูลสัตว์แล้วมันก็เกื้อกูลโลกไปในตัว ...นี่คือธรรมที่เข้าไปค้ำชูโลกอย่างนี้แหละ

เอ้า เอาแล้ว ไป... ฝึกกัน ขยันกัน ทำกันเข้าไป อย่าท้อถอย


................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น